ข่าวอัพเดทรายวัน

ชาวบ้านฮือค้านกองบิน 23 อ้างกองทัพอากาศอนุญาตปลูกอ้อยในสนามบินเสรีไทย

กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไทยอีสานเมืองน้ำดำ และชาวบ้านฮือต้านโครงการของกองบิน 23 เปลี่ยนรันเวย์เป็นไร่อ้อย พร้อมร้องขอกองทัพอากาศ (ทอ.) หยุดพฤติกรรมลบร่องรอยประวิศาสตร์ ร.9 สนามบินเสรีไทย แฉทำหนังสืออนุญาตปลูกอ้อย 100 ไร่ บนแผ่นดินประวัติศาสตร์อีสาน ศูนย์รวมใจพสกนิกรที่มีต่อพ่อหลวงไทย ระบุเป็นการย่ำยีหัวใจและทำลายแผ่นดินประวัติศาสตร์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 กันยายน 2565 ที่ทำการกองทุนหมู่บ้านนาคู หมู่ 1 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนของชาวบ้านจากชุมชนต่างๆในตำบลนาคู และใกล้เคียง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ชาวผู้ไทย นำโดยนายบำรุง คะโยธา อดีตแกนนำสมัชชาคนจน นางทักษิณ แจ่มพงศ์ นายก ทต.นาคู นายสังคม จิตจง กำนันตำบลนาคู พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ชาวบ้านตั้งแต่อายุ 70 ปีลงมา รวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการของกองทัพอากาศ โดยกองบิน 23 อุดรธานี ที่จะใช้สนามบินเสรีไทยเป็นแปลงปลูกไร่อ้อย หลังเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) ชาวบ้านได้พบนายทุนนำพบรถแบ็คโฮเข้ามาจอดภายในบริเวณสนามบินเสรีไทย และเตรียมลงมือปรับพื้นที่ของสนามบินเสรีไทยแห่งนี้เป็นแปลงปลูกอ้อยจำนวน 100 ไร่ จากนั้นได้รวมตัวกันคัดค้าน แสดงจุดยืนในการปกป้องสนามบินเสรีไทย โดยร่วมกันชูป้าย เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้าน และขอให้ทหารอากาศ ยกเลิกโครงการแปลงสนามบินเสรีไทยเป็นแปลงปลูกอ้อยดังกล่าว

ทั้งนี้ชาวบ้านที่พบเห็นรถแบ็คโฮดังกล่าวได้เข้าไปขัดขวาง ก่อนที่จะทราบข้อมูลว่าเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ คือกองทัพอากาศ (ทอ.) โดยมีหนังสือกล่าวอ้างอนุญาตให้ทำการปลูกอ้อย ชาวบ้านต่างไม่พอใจและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าเป็นไปได้จะเป็นการลบรอยประวัติศาสตร์ชาติไทย อีกทั้งยังเป็นการลบรอยที่ถูกจารึกไว้ตั้งแต่ยุค ผกค. ซึ่งจะกระทบต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากมีการปลูกอ้อยในสบามบินจริงๆจะมีสารเคมี และสารพิษจากไร่อ้อยตกค้างและไหลไปยังห้วยมะโน ที่เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตอำเภอนาคู

ด้านนายบำรุง คะโยธา อดีตแกนนำสมัชชาคนจน กล่าวว่า ตามที่ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวผู้ไทยในเขต อ.นาคูและอ.เขาวง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ผู้ไทย มีความรักและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ว่ามีหนังสือจากทหารอากาศ อนุญาตให้นายทุนเข้ามาทำการปลูกอ้อยจำนวน 100 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดของสนามบินเสรีไทยประมาณ 500 ไร่ ทำให้ตนและผู้ที่ทราบข่าวประหลาดใจมาก จึงได้ร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไทย และผู้นำชุมชน มาพูดคุย ร่วมกันหาแนวทางคัดค้าน เพราะต่างก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพื้นที่เป็นสนามบินเสรีไทยตรงนี้ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ทราบจากหนังสืออนุญาตดังกล่าวระบุว่าจะใช้เป็นที่ปลูกอ้อย เอาค่าเช่ามาเป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือสวัสดิการกองบิน ซึ่งไม่น่าจะหาวิธีการโดยให้เอกชนมาเช่าปลูกอ้อยเลย หากต้องการเงินสวัสดิการจริงๆ มีหลายวิธีที่จะหา หรือจะให้ชาวอำเภอนาคูทุกคนออกเงินช่วย ก็จะง่ายกว่า ทั้งนี้ จะคัดค้านไปให้ถึงที่สุด

ด้านนางทักษิณ แจ่มพงศ์ นายก ทต.นาคูกล่าวว่า เรื่องนี้ตนและท้องถิ่น ท้องที่ รวมทั้งชาวบ้านไม่ทราบเรื่องมาก่อน ก็เพิ่งจะได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการขนย้ายเครื่องจักรเข้ามาในสนามบิน และเตรียมจะลงมือปรับสนามบินเสรีไทยให้เป็นไร่อ้อย ทั้งนี้ จากข้อความในหนังสืออนุญาตดังกล่าว ระบุว่า ขออนุมัติใช้ประโยชน์พื้นที่ดำเนินโครงการปลูกพืช เพื่อรักษาหน้าดินและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนและเข้าใจว่าชาวบ้านทุกคน ไม่เห็นด้วยแน่นอน เนื่องจากชาวนานาคูผูกพันกับสนามบินเสรีไทยมาสหลายชั่วอายุตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาก็เป็นแหล่งอาหารชุมชน ชาวบ้านได้ไปหาอาหารตามฤดู เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ หากมีการแปลงสภาพเป็นไร่อ้อย ก็จะเกิดสารเคมีตกค้าง และถูกกระแสน้ำพัดพาลงสู่ห้วยมะโน เป็นอันตรายต่อสุขภาพชาวบ้านได้

นางทักษิณกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาส่วนราชการเคยขอใช้ประโยชน์จากสนามบินเสรีไทย ประมาณ 27 ไร่ เป็นพื้นที่ประกอบของโรงพยาบาลนาคู ต่อมาพยายามขอใช้พื้นที่เพิ่มเติม แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อนุญาต รวมถึงจะใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ปรับปรุงเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ยังไม่อนุญาต แต่พอมาถึงวันนี้ กลับมีหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้ามาปลูกอ้อย เพื่อเอาเงินค่าเช่าเป็นเงินสวัสดิการดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านยอมไม่ได้ จึงได้มารวมตัวกันคัดค้านในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ ชาวผู้ไทยชาวอำเภอนาคูและเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไทยทุกอำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ จ.สกลนคร จ.นครพนม และใกล้เคียง จะเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อคัดค้าน ไม่ให้ทหารอากาศแปลงสนามบินเสรีไทยเป็นแปลงปลูกอ้อย โดยจะนัดรวมตัวกันที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอนาคู คาดว่าจะมีชาวผู้ไทยมาร่วมชุมนุมคัดค้านไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

สำหรับสนามบินเสรีไทย เป็นสนามบินลับเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านกำลังพลของญี่ปุ่นและรักษาอธิปไตยของชาติ โดยมีการสร้างสนามบินเสรีไทยเพื่อเป็นที่ขึ้น – ลงของเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์และครูฝึกเข้ามาฝึกยุทธวิธีให้แก่พลพรรคเสรีไทย การฝึกยุทธวิธีแบบกองโจร ทหารพลเรือน(ทพร.) ฝึกสืบราชการลับแบบกองสอดแนม เหตุเพราะทุกคนในวงการเสรีไทยสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องพึ่งอาวุธยุธโธปกรณ์ที่ฝ่ายประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา(ฝ่ายสัมพันธมิตร)ส่งมาให้ การส่งอาวุธยุทโธปกรณ์นี้ ในระยะแรกมีเพียงการทิ้งร่ม ณ พื้นที่ที่ตกลงกันเป็นครั้งคราวๆ และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งแต่ละครั้งก็มีจำนวนจำกัด

ทั้งนี้สนามบินเสรีไทยยังเคยใช้เป็นท่าอากาศยานของเสรีไทยในอดีต โดยมีเรือบิน Dokota ของฝ่ายพันธมิตรเคยขนอาวุธมาลง 2 ครั้ง ในการตั้งค่ายเสรีไทยที่บ้านนาคูใช้เวลาในการก่อสร้าง 20 วัน โดยการเกณฑ์กำลังแรงงานราษฎรจากอำเภอกุฉินารายณ์ สหัสขันธ์ กมลาไสย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มาร่วมปลูกสร้าง มีการนำเกวียนขนหินเป็นแผ่น ๆ เพื่อใช้เป็นรันเวย์และพื้นที่สนามบินจนสามารถใช้เป็นสนามบินที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มาลงที่สนามบินแห่งนี้ได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังเป็นจุดรับนักรบเสรีไทยไปรับการฝึกอาวุธที่ประเทศอินเดียอีกด้วย

ปัจจุบันสนามบินแห่งนี้แม้จะไม่ได้มีการพัฒนาเชิงพานิชย์ แต่ถูกอนุรักษ์ไว้ในเชิงประวัติศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ จากนั้นเมื่อประมาณปี 2513-2519 พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอนาคู ทรงมีรับสั่งให้ชลประทานทาการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน อำเภอนาคู ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ เส้นทางตรงอ่างเก็บน้ำคู ยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทราบว่า พระองค์ได้เสด็จในช่วงปี 2513-2519 ทั้งนี้สภาพสนามบินยังมีร่องรอยจารึก ราษฎรหลายคนเคยร่วมรับเสด็จ และทาให้ผู้นาชุมชนได้เตรียมที่จะพัฒนาให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นอนุสรณ์สถานของคนรุ่นต่อไป

และเมื่อครั้ง ปี พ.ศ.2505 พระองค์ท่านเสด็จมาเยี่ยมบ้านนาคู 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ทรงปล่อยปลาที่อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ปลูกต้นคูณ 3 ต้น มีการจัดตั้งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ แห่งแรก สร้างอ่างเก็บน้ำสร้างโรงเรียน มีไฟฟ้าใช้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคนี้ สำหรับการเสด็จในพื้นที่อำเภอนาคู ตรง สนามบินเสรีไทย พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้น้ำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่พัฒนาพื้นที่ให้ชาวอำเภอนาคู จนทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย