ข่าวอัพเดทรายวัน

สุรินทร์ ชาวอำเภอสังขะทำบุญพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษแซนโฎนตา

วันที่ 22 กันยายน 2565 เวลา 09.09 น. นายธาตรี สิริรุ่งวนิช นายอำเภอสังขะร่วมประกอบพิธีแซนโฏนตาบูชาบรรพบุรุษ โดยมีนางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ นายกเทศมนตรีตำบลสังขะ นายเฉลิมชัย นามม่วง ประธานสภาฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและคณะผู้บริหารส่วนตำบลทั้ง 12 แห่ง ร่วมกันเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เจ้าเมืองสังขะคนแรก) เซ่นไหว้ศาลปะกำช้าง รูปปั้นช้าง และศาลหลักเมืองสังขะ โดยมีหมอปะกำช้างและหมอพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวหลังจากเสร็จพิธี นายธาตรี สิริรุ่งวนิช นายอำเภอสังขะ ได้จุดธูปเลขให้โชคชาวอำเภอสังขะ ซึ่งเห็นเลขชัด ๆ คือ 527 และมีการทำพิธีเสี่ยงทายคางไก่ ซึ่งมีหมอพราหมณ์จะต้องนำไก่ที่ต้มแล้ว ไปเซ่นไหว้ที่ศาลประกำ เพื่อเสี่ยงทายคางไก่ดู ว่าในปีนี้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดีมั้ย ฝนจะแล้ง หรือน้ำจะท่วม ก็จะดูที่คางไก่ ถ้าคางไก่ผอมสูงอวบ ทายว่าน้ำจะเยอะ ต้นข้าวจะยืดตามน้ำ แต่ก็ได้เก็บเกี่ยวอยู่ แต่ปีนี้โดยรวมแล้ว สรุปจากคางไก่สวยงามมาก น้ำท่าจะบริบูรณ์ดี

ทั้งนี้ได้มีการจัดพิธีรำบวงสรวงบูชาบรรพบุรุษจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 12 แห่ง จำนวน 300 คน และการแสดงจากโรงเรียนสังขะวิทยาคม วิทยาลัยการอาชีพสังขะ และโรงเรียนสังขะ ประเพณีวันแซนโฏนตา เป็นวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายเขมร โดยครอบครัวและเครือญาติจะได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เฉกเช่นเดียวกับ “วันสารทไทย”, “วันสารทจีน” และในวัฒนธรรมของชาวเขมรก็มีประเพณี “วันสารทเขมร” หรือที่เรียกกันว่า “ประเพณีแซนโฎนตา”

วันแซนโฎนตา หรือ ไงแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คำว่า “ไง” หมายถึง วัน คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า “โฎน” หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

ทั้งนี้ ชาวไทยเชื้อสายเขมรมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า “วันเบ็นตูจ” โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ “วันเบ็นทม” ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา อีกส่วนสำคัญคือการเตรียม “บายเบ็ญ” โดยเตรียมอาหาร ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงเล็ก ๆ หลายใบ และจัดใส่กระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ นำมาตั้งไว้นอกรั้วบ้านในวันแรม 15 ค่ำ เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติ การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน