ข่าวอัพเดทรายวัน

ศรีสะเกษ พ่อเมืองเปิดงานประเพณีแซนโฏนตาขุขันธ์ยิ่งใหญ่ตระการตา

ศรีสะเกษ พ่อเมืองเปิดงานประเพณีแซนโฏนตาขุขันธ์ยิ่งใหญ่ตระการตา ขณะที่สาวชาวขุขันธ์เชื้อสายเขมรโบราณกว่า 300 คนพากันมารำบวงสรวงและพากันจัดทำเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษอย่างสวยงามมาร่วมพิธีจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฏนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2565 ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายประกอบด้วย ขบวนแห่ที่สวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา พิธีเซ่นไหว้ศาลหลักเมือง พิธีเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ พิธีเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) การแสดงอัปสรา การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้มีสาวงามชาวขุขันธ์กว่า 300 คน มารำบวงสรวงการแสดงโขนขุขันธ์ การประกวดกล้วยงามเมืองขุขันธ์ การประกวดผ้าไหมและเสื้อแส่ว การประกวดขบวนแห่และการประกวดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ พิธีอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษของชาวขุขันธ์มารับเครื่องเซ่นไหว้ และกล่าวอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษกลับสู่ภพภูมิ โดยมี นายอรรถพล อรรคบุตร นายอำเภอขุขันธ์ กล่าวต้อนรับ นายสืบสวัสดิ์ สืบสายพรหม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองขุขันธ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี ประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 6 พรรคเพื่อไทย นายวิทยา ไชยเดชกำจร นายอำเภอปรางค์กู่ นำคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน แต่งกายด้วยชุดเขมรมาร่วมพิธีจำนวนมาก

นายสืบสวัสดิ์ สืบสายพรหม นายกเทศมนตรีตำบลขุขันธ์ กล่าวว่า อ.ขุขันธ์ เป็นอำเภอเก่าแก่ตั้งมากว่า 985 ปี มีคนไทย เชื้อสายหลายกลุ่มรวมกัน เช่น เขมร ลาว ส่วย เยอ ปัจจุบันมี 22 ตำบล 276 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 150,000 คนเศษ มีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีแซนโฏนตา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีเช่นไหว้บรรพบุรุษเชื้อสายเขมร ดั้งเดิมจะประกอบพิธีเฉพาะในครอบครัวและชุมชน ซึ่งอาจขาดการเชื่อมโยงสู่คนรุ่นใหม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีอันดีงามให้แพร่หลายที่ประชุมภาคส่วนต่างๆ ของ อ.ขุขันธ์ จึงมีมติร่วมกันกำหนดการจัดงานประเพณีระดับอำเภอขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และได้จัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนราชการโดยมอบหมายให้เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ เป็นฝ่ายเลขานุการในการจัดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมการประกอบพิธีกรรมเช่นไหว้บรรพบุรุษ ตามความเชื่อที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อส่งเสริมความรัก ความสามัคคีของชาว อ.ขุขันธ์ ตลอดจนการใช้ประเพณีให้เป็นสายใยผูกพันในครอบครัว เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในด้านการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เปิดประตูให้สาธารณชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อ

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษกล่าวว่า ทุกๆปีเมื่อถึงแรม 15 ค่ำเดือน 10 จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่เรียกกันว่าแซนโฎนตา ลูกหลานที่มีเชื้อสายเผ่าเขมร จะต้องเดินทางกลับบ้านมารวมญาติ ช่วยกันห่อข้าวต้ม บางหมู่บ้านมีไส้ข้าวต้มเป็นกล้วย บางหมู่บ้านก็เป็นข้าวต้มไส้ถั่ว หรือบางชนิดก็ไม่มีไส้ มีการประดิษฐ์ประดอยวิธีการห่อหลากหลายชนิดด้วยใบตอง ทุกครอบครัวจะทำข้าวต้มเยอะมากเพื่อให้เพียงพอต่อการแจกจ่ายไปตามบ้านญาติและคนอื่นๆ ข้าวต้มนี้ต้องนำไปเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับก่อน พอไหว้เสร็จก็นำมาฝากลูกหลานญาติมิตร เพื่อนสนิทมิตรสหาย เชื่อกันว่ายิ่งแจกจ่ายมาก ยิ่งแบ่งปันมากจะยิ่งทำให้ร่ำรวย ไม่ยากจน เพราะถือว่าเป็นคนมีน้ำใจยิ่งให้ยิ่งได้ ซึ่งทุกๆปีที่ อ.ขุขันธ์จัดงาน จะมีนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานเยอะมาก ซึ่งส่วนมากเป็นลูกหลานเผ่าเขมรที่เดินทางกลับบ้านมาไหว้บรรพบุรุษ จึงถือว่าการจัดงานเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากและยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี กล้วยแสนหวีกลายเป็นกล้วยล้านหวีเพราะมีการตั้งร้านค้ามากมาย ทุกร้านจะมีกล้วยที่คัดมาอย่างสวย ให้ได้ซื้อไปเซ่นไหว้ ถือเป็นงานที่น่าสนใจและน่ามาท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ประเพณีแซนโฏนตาของ อ.ขุขันธ์ถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงาม ในการที่ลูกหลานได้รำลึกนึกถึงบรรพบุรุษไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองหรือบุพการีต่างๆและทุกปีที่ผ่านมาเพื่อจะได้มีการจัดพิธีที่มีความสำคัญในการที่จะสักการะเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของชาว อ.ขุขันธ์รวมทั้งสภาวัฒนธรรม อ.ขุขันธ์และส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งความจริงประเพณีนี้มีมานานแล้ว แต่ว่าลักษณะการจัดงานอย่างนี้หลังจากที่มองเห็นว่าน่าจะยกระดับขึ้นมาก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในส่วนต่อไปไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหรืออำเภอเองก็คิดว่าเราอยากจะยกระดับงานตรงนี้ให้เป็นงานระดับจังหวัดหรือระดับชาติในอนาคตต่อไป ซึ่ง จ.ศรีสะเกษได้เคยมีการสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 แต่ว่าพี่น้องชาว อ.ขุขันธ์ก็ไม่ได้ย่อท้อสิ่งที่ดีที่ทำอยู่แล้วก็ทำกันต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ไม่ได้หยุดไม่ได้พักอะไรเลย นี่คือพลังที่ยิ่งใหญ่และก็เป็นพลังแห่งศรัทธาของชาว อ.ขุขันธ์อย่างแท้จริง ซึ่งในปีต่อไป ทาง จ.ศรีสะเกษ ก็ได้ให้ การสนับสนุนงบประมาณในจำนวนพอสมควร เพื่อที่จะเติมเต็มให้กับทางพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างยิ่งใหญ่ และอยากจะปักธงให้งานนี้เป็นงานที่มีความสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะให้มีอาชีพของพี่น้องประชาชนหรือการหารายได้ของพี่น้องประชาชนผ่านงานนี้ด้วยมิติทางวัฒนธรรม มิติทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ก็ต้องไปด้วยกัน สิ่งนี้เป็นเป้าหมายแล้วก็เป็นปลายทางของการที่พวกเราได้จัดกิจกรรมและที่สำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้ลูกหลานของพวกเราได้มาซึมซับวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นความยั่งยืนที่ทางทีมงาน อ.ขุขันธ์ ได้มีความเข้มแข็งในการจัดงานและเป็นพลังในการจัดงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา