ข่าวอัพเดทรายวัน

จังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์ – อ่วม!! น้ำท่วมตัวเมือง และหลายอำเภอ ถนนหลายสายจมน้ำ

สุรินทร์ – อ่วม!! น้ำท่วมตัวเมือง และหลายอำเภอ ถนนหลายสายจมน้ำ โดยเฉพาะที่บ้านโคกกระเพอ-บ้านโคกยาง ต.นอกเมือง อ.เมือง บางจุดน้ำสูงกว่า 1 เมตร ประตูระบายน้ำทรุดตัวถนนขาด

ผลพวงอิทธิฝนพายุดีเปรสชันของวานนี้(25 ก.ย.2565)ทำให้ฝนตกหนักหลายชั่วโมงในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ถนนหลายสายจมน้ำรถผ่านไม่ได้ ขณะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเต็มความจุ และล้นสปิลเวย์แล้ว แจ้งเตือนชาวบ้านเตรียมรับมือ ส่วนฝนยังตกต่อเนื่อง ขณะที่ถนนเลียบคลองที่ประตูระบายน้ำบ้านเฉลิมพระเกียรติ-บ้านถ่าน ถนนทรุดตัวทนแรงน้ำไม่ได้ถูกตัดขาด

วันที่ 26 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จากอิทธิฝนพายุดีเปรสชันยังคงอยู่ในระดับสูงหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำจากพื้นที่อื่นไหลมาสมทบ ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก บางแห่งระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร ชาวบ้านต้องเร่งเก็บข้าวของขึ้นที่สูง บางพื้นที่เก็บไม่ทันถูกน้ำไหลเข้าท่วมบ้านทรัพย์สินได้รับความเสียหายการสัญจรในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะถนนหลายน้ำยังท่วมสูง กว่า 50 เซนติเมตร (ซม.) โรงเรียนทุกแห่งในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ และตำบลนอกเมือง ย่านตลาดสดถูกน้ำท่วม และศูนย์การค้า ทั้งห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ แม็คโคร เทสโก้ โลตัส ถนนทางเข้าห้างถูกน้ำท่วมสูงกว่า 60 ซม. จมอยู่ใต้น้ำ เช่นเดียวกับหมู่บ้านจัดสรรรอบศูนย์การค้ากว่า 5 หมู่บ้าน ถูกน้ำไหลเข้าบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ล่าสุดวันนี้ทีมข่าวลงสำรวจพื้นที่พบน้ำท่วมถนนเข้าหมู่บ้านโคกกะเพอ-บ้านโคกยาง ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ น้ำท่วมประมาณกว่า 1 เมตร โดย อบต.นอกเมือง ได้นำป้ายเตือนมาติดไว้พร้อมกับติดผ้าสีแดงไม่ให้รถผ่านเข้าไป พร้อมกันนี้ยังพบชาวบ้านลงใส่มองหาปลาในบริเวณ
นอกจากนี้ยังพบว่าบ้านระหาร-บ้านแกใหญ่ นำได้ท่วมถนนสูงประมาณ 20 เซนติเมตร (ซม.) รถเล็กผ่านไม่ได้ ผ่านได้รถใหญ่ ส่วนรถจักรยานยนต์ถ้าฝืนวิ่งก็จะน็อคดับกลางทาง ผู้ที่ขับขี่รถต้องใช้ความระมัดเป็นอย่างมาก

ทีมข่าวได้สำรวจเส้นทางถนนเลียบคลองชลประทานบริเวณบ้านเฉลิมพระเกีรยติ-บ้านถ่าน พบว่าที่ประตูระบายน้ำติดกับศาลจังหวัดสุรินทร์ ถนนได้ทรุดตัวลงถูกตัดขาดเพราะทนแรงกระแสน้ำไม่ไหว โดยทางนายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ ได้ทราบพร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเร่งแก้ไขให้กับชาวบ้าน

อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลัก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำได้เกินคามจุ ทำให้บริเวณท้ายอ่าง และหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งเขตเทศบาลบางส่วนน้ำเริ่มไหลเข้าท่วมแล้ว ส่วนที่วิกฤตมากที่สุดในรอบหลายปีนอกจากน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองแล้ว ที่ อ.สังขะ ถือว่าหนักสุด เนื่องจากปริมาณน้ำจากเทือกเขาพนมดงรักได้ไหลลงมาสมทบ และที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ ปริมาณน้ำจากเทือกเขาพนมดงรักที่จะไหลลงมาสมทบอาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น
ทางด้านจังหวัดสุรินทร์ ได้ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อำเภอ เร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกันวันนี้พบว่า ฝนยังตกต่อเนื่องกระจายทั่วพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

นายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ เปิดถึงเผยสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุรินทร์ขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดสุรินทร์ ทั้งหมด 17 อ่าง มีค่าเฉลี่ยโดยรวมร้อยละ 100 และจำนวน 8 อ่าง มีความจุเต็มร้อยละ 100 แล้ว โดยทั้งจังหวัดสามารถกักเก็บน้ำได้ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งมีปริมาณความจุมากกว่าทุกอ่าง ขณะนี้เต็มความจุแล้วเช่นเดียวกัน โดยอ่างฯ ห้วยเสนงมีความจุอยู่ที่ร้อยละ 117 จากปริมาณความจุอ่าง 25.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างฯ อำปึล มีความจุอยู่ที่ร้อยละ 112 จากปริมาณความจุ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโครงการชลประทานสุรินทร์ ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงวันละประมาณ 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายจากอ่างฯ อำปึล ลงอ่างห้วยเสนงวันละประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้ำยังไม่ล้นตลิ่ง และต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 2.20 เมตร ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ซึ่งยังอยู่ในสถานการณ์ที่โครงการชลประทานสุรินทร์สามารถควบคุมได้
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุรินทร์ ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสุรินทร์ (ข้อมูลวันที่ 25 กันยายน 2565)

1. เกิดอุทกภัย จำนวน 13 อำเภอ 55 ตำบล 297 หมู่บ้าน 7,009 ครัวเรือน
– พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 75,697 ไร่
– บ้านเรือนบางส่วนและสิ่งสาธารณะประโยชน์ เช่น ถนนทางหลวง ถนนท้องถิ่น
บ้านพักอาศัย 20 หลัง (อำเภอเมืองสุรินทร์ 1หลัง อำเภอศรีณรงค์ 3 หลัง อำเภอสังขะ 6 หลัง และอำเภอลำดวน 1 หลัง ) คอกสัตว์ 2 หลัง (อำเภอเมืองสุรินทร์ 2 แห่ง) ถนน 16 สาย (อำเภอลำดวน 7 สาย อำเภอศรีณรงค์ 7 สาย อำเภอท่าตูม 1 อำเภอเมืองสุรินทร์ 1 สาย และอำเภอประสาท 1 สาย) วัด 3 แห่ง (อำเภอศรีณรงค์ 3 แห่ง) โรงเรียนอนุบาล 1 แห่ง (อำเภอศรีณรงค์)

2. การดำเนินการ
– การลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยงในเขตเทศบาล และอบต.
– ติดป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเบี่ยงกรณีน้ำท่วมผิวทางจราจร
– แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ริมแม่น้ำมูล ลำชี ห้วยระวี ห้วยลำพอก ห้วยเสนง ห้วยทับทัน และลำน้ำสาขาอื่น ๆ ในการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ และจากฝนตกหนัก

3. การเตรียมความพร้อมและการสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย คือ รถแบคโฮ ของ อบจ.สร. โครงการชลประทานสุรินทร์ แขวงทางหลวงสุรินทร์ แขวงทางหลวงชนบทสุรินทร์ และของ อปท. ในพื้นที่, เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 15 ลำ (ปภ.จ.สร.), เรือพลาสติก จำนวน 5 ลำ (ปภ.จ.สร.), เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 18 เครื่อง (อบจ.สร./โครงการชลประทานสุรินทร์), เครื่องสูบน้ำของ อปท. ในพื้นที่