ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง


วันที่ 26 ก.ย. 65 นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ (หัวหน้าคณะ) นายจิรชัย มูลทองโร่ย โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ นายอนุกูล เจิมมงคล นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ นางสาวสุธามาศ ใจดี นายจำลอง สิงโตงาม นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ นายกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ (อนุกรรมาธิการ) และ นายนริศโรจน์ เพื่องระบิล นายอัมรินทร์ ศรีหิรัญ (ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ) คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ได้เดินทางลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังริมฝั่งแม่น้ำโขง ตามโครงการศึกษาดูงานของวุฒิสภา ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีนายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอเมืองนครพนม พร้อมด้วย , นายปรีชา ศรีสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ , นายเฉลียว แก้วมะ ประมงอำเภอเมืองนครพนม , กำนันตำบลอาจสามารถ และกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังตำบลอาจสามารถ ให้การต้อนรับ
นายจิรชัย มูลทองโร่ย โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังตำบลอาจสามารถ เนื่องจากทราบว่าทางกลุ่มฯมีการเลี้ยง “ปลานิล” ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงได้มาเยี่ยมประชาชนและได้มาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ “ปลานิล” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้เพื่อพบปะกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการเลี้ยงปลาในแต่ละฤดู ปัญหาการจำหน่ายปลา ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ซึ่งทางจังหวัดนครพนมมีการเตรียมการไว้แล้วในการจัดให้มีเทศกาลกินปลาในแต่ละปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม

ด้านนายเฉลียว แก้วมะ ประมงอำเภอเมืองนครพนม กล่าวว่า กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังตำบลอาจสามารถ เริ่มเลี้ยงปลาในกระชังแม่น้ำโขงในพื้นที่ตำบลอาจสามารถ เริ่มราวปีพ.ศ 2537 เพื่อเป็นการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยงจะได้จากการรวบรวมรูปพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขง เช่น ปลาเผาะ ปลาเคิง ปลาตะเพียนทอง อาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นเศษอาหารจากครัวเรือน เช่น เศษผัก ไส้ไก่ ฯ ต่อมาปีพ.ศ 2548 จังหวัดนครพนมจัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาเผาะเพื่อส่งออกมีการส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้การเลี้ยงปลากระชังพันธุ์ปลาเผาะและอาหารรวมถึงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อแปรรูปส่งออกไปยังต่างประเทศทำให้เกษตรกรมีการตื่นตัวในการเลี้ยงปลาในกระชังมากขึ้นมีเกษตรกรหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นภายหลังมีการปรับเปลี่ยนชนิดพันธุ์ปลาในการเลี้ยงเพื่อตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น ปลานิล นับว่าเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญ

นายเฉลียว กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีพ.ศ 2565 พื้นที่ตำบลอาจสามารถมีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังทั้งสิ้น 112 ราย จำนวนกระชัง 1,421 กระชัง เมื่อคิดจำนวนกระชังทั้งหมดแล้วพบว่ามีการเลี้ยงปลานิล ร้อยละ 60 ปลาเผาะ ร้อยละ 30 ปลาอื่นๆ เช่น ปลาเคิง ปลาตะเพียน ปลายอน ร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 43 ล้านบาท แหล่งจำหน่ายผลผลิตมีทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งให้ร้านอาหารโดยเฉพาะร้านปลาจุ่มในพื้นที่มีความต้องการปลาเผาะ ปลาเคิง จำนวนมาก ด้านปัญหาและอุปสรรคที่เกษตรกรต้องประสบและเป็นตัวแปรต่อผลผลิตรายได้ก็คือ ปลาตาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ เนื่องจากโรคพยาธิ และเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงราคาปลาตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา และราคาปัจจัยผลผลิต เช่น อาหารปลา ยารักษาโรค วิตามินที่มีราคาแพง ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐจังหวัดนครพนม โดย สำนักงานประมงจังหวัดนครพนม ได้ดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ปลา อาหาร วัสดุ/อุปกรณ์ในการเลี้ยง องค์ความรู้ และการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ตามแผนงานโครงการพัฒนาจังหวัดอย่างต่อเนื่องรวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มผลิตเพื่ออำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง การเข้าถึงบริการภาครัฐโดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มมีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่ม ชื่อกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังตำบลอาจสามารถ สมาชิก 112 ราย และในอนาคตภาครัฐและเกษตรกรต้องร่วมกันพัฒนาการเลี้ยงและแก้ไขปัญหาต่างๆไปด้วยกันเพื่อให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป