วันที่ 27 ก.ย.65 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เกษตรจังหวัดนครพนม ออกแจ้งเตือนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครพนม เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่การเกษตร และพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรหากได้รับผลกระทบ จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง

จากการรายงานข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันที่ 27 กันยายน 2565 มีฝนหรือฟ้าคะนองในพื้นที่ร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม.ชม ในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565 พายุไต้ฝุ่น “โนรู”คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ จากนั้นจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ และสำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดนครพนม ระดับน้ำในแม่น้ำโขง วันที่ 27 ก.ย. 2565 ระดับน้ำอยู่ที่ 6.76 ม. ลดลงจากเมื่อวาน และระดับน้ำสงครารม สถานีแม่น้ำสงคราม จ.นครพนม ระดับตลิ่ง 14.50 ม. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีแนวโน้มที่ทรงตัว ซึ่งพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรที่ทำการเกษตรบริเวณริมแม่น้ำโขง จะต้องเฝ้าติดตาม สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขง เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจจะประสบภัยพิบัติช่วงฤดูฝน ปี 2565 ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีวิธีการ ขั้นตอนในการช่วยเหลือ เป็นกรณี กรณีก่อนเกิดภัยพิบัติ ให้มีการติดตามข้อมูล ข่าวสารสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนภัยกับเกษตรกรให้เฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพืชผลทางการเกษตร ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร มาขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหาย ให้สำนักงานเกษตรอำเภอออกพื้นที่เยี่ยมเยียนให้คำแนะนำกับเกษตรกร เกี่ยวกับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ รวมไปถึงการดูแลพืชผลทางการเกษตรตลอดรอบการเพาะปลูก เมื่อมีการประเมินสถานการณ์แล้วหากเกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ ให้ประสานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ รวมไปถึงบูรณาการหน่วยงานอื่นๆ ในการเข้าให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เตรียมการป้องกันด้านศัตรูพืช โดยให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

กรณีเกิดภัยพิบัติ ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานสถานการณ์พื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติให้กับ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมทราบโดยด่วน จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกรที่ประสบภัย รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่ประสบภัยพิบัติ
กรณีหลังเกิดภัยพิบัติ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้เร่งดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหาย ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด รายงานความก้าวหน้าผลการสำรวจความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมทราบ จนกว่าจะมีกว่าจะมีการช่วยเหลือจนแล้วเสร็จ

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานที่จะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้อย่างทันสถานการณ์ โดยอาจจะต้องร่วมกับเกษตรกรและผู้นำชุมชนในการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง รวมไปถึงการรายงานข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว