ข่าวอัพเดทรายวัน

พช.นครพนม Live Action นำเสนอความสำเร็จของการดำเนินงาน “กลุ่มนาหว้าโมเดล”

พช.นครพนม Live Action นำเสนอความสำเร็จของการดำเนินงาน “กลุ่มนาหว้าโมเดล” ในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ “การขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย ในงาน Sustainability Expo 2022”

วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า นางรัชต์วรรณ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอนาหว้า เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ และสมาชิกกลุ่มนาหว้าโมเดล ดำเนินการกิจกรรม Live Action นำเสนอความสำเร็จของการดำเนินงาน “กลุ่มนาหว้าโมเดล” ในงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ “การขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย ในงาน Sustainability Expo 2022” ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินงาน ภายใต้โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม นำเสนอว่า สำหรับโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” เป็น 1 ใน 8 กิจกรรมของกรมการพัฒนาชุมชนที่ดำเนินงานภายใต้พระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เพื่อเป็นตัวอย่างชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ระดับประเทศ ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมผลงานและจัดพิมพ์หนังสือนาหว้าโมเดล ในรูปแบบหนังสือและอิเลคทรอนิกส์ เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ในช่องทางต่าง ๆ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ภูมิปัญญาผ้าไทยและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ที่สามารถนำไปออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัยสวมใสได้ในชีวิตประจำวันทุกเพศทุกวัย สำหรับฐานการเรียนรู้ที่ 1“นาหว้าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” พระธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองประจำอำเภอนาหว้าและจังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในพระธาตุประจำวันเกิดวันพฤหัสบดี โดยชนเผ่าไทญ้อ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2112 และมีการบูรณะต่อเติมมีลักษณะรูปแบบพระธาตุพนม ต่อมาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุมาบรรจุไว้ และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินต้นบนศาลาโรงธรรม และทรงเยี่ยมราษฎร ณ แผ่นดินนี้ คือ “นาหว้าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์”

นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ หัวหน้าศิลปาชีพอำเภอนาหว้า และเป็นหนึ่งในราษฎร 6 คน ที่ถวายผ้าไหมแก่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งปี 2515 นำเสนอว่า สำหรับฐานเรียนรู้ที่ 2 ตามรอยต้นกำเนิดศิลปาชีพ ณ กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 ดิฉันได้ถวายผ้าไหมให้กับสมเด็จพระพันปีหลวง พระองค์ทรงตรัสว่า “สวยมากจ๊ะ” ทอเองหรือจ๊ะ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรผ้าไหมแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงดำริริเริ่มให้ราษฎรชาวนาหว้า ทอผ้าไหมส่งให้สำนักพระราชวังสวนจิตรลดา ตามระบบราชการผ่านอำเภอ/จังหวัด ส่งต่อให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ผนวกเข้าเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ โดยมอบหมายให้คุณหญิงมะลิ มูลศาสตร์สาทร ควบคุมดูแลกิจกรรมของโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2515 ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า “สมาชิกทอผ้าไหมกลุ่มนาหว้า” สมาชิกเริ่มแรกส่วนใหญ่อยู่ที่ตำบลนาหว้า ตำบลนาคูณใหญ่ ต่อมามีการขยายรับสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี เพิ่มจากตำบลท่าเรือ ตำบลนางัว (บ้านนาคอย) และตำบลบ้านเสียว (บ้านโคกสะอาด) ทอผ้าไหมส่งสำนักพระราชวังฯ ต่อเนื่องทุกปี จึงกล่าวกันว่า “เป็นกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกในประเทศไทยที่ทอผ้าไหมส่งสำนักพระราชวัง” และในปี พ.ศ.2522 สำนักราชเลขานุการในพระองค์ ได้ผนวกเข้าใน “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” จึงถือว่า สมาชิกทอผ้าไหมกลุ่มนาหว้า เป็นกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นางรัชต์วรรณ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอนาหว้า นำเสนอว่า สำหรับฐานเรียนรู้ที่ 3 “สืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาทอผ้า สู่ความยั่งยืน” เป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานการผลิตผ้าจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรและทรงทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกฯ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย งานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของพระองค์หญิงในการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นถิ่นของไทย จึงเป็นที่มาของโครงการตามแนวพระดำริ “นาหว้าโมเดล” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพึ่งพาตนเองทางด้านการถักทอผืนผ้าจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย และเป็นสากล

นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า นำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมสาวไหมว่า สำหรับงานฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่อำเภอนาหว้า ได้ดำเนินการตามพระดำริของพระองค์หญิง ให้มีการฟื้นฟู “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” สำหรับโครงการนาหว้า โมเดล เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใย โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่า ส่วนราชการ/กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ /ทต.นาหว้า /ทต.ท่าเรือ /โรงเรียน ซึ่งเราดำเนินการแล้ว 3 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 ณ ศูนย์ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สวนสาธารณะดอนยาวบ้านนางัว หมู่ที่ 2 ตำบลนางัว พื้นที่ 3 ไร่ ปลูกต้นหม่อน จำนวน 2,800 ต้น มีโรงเลี้ยงไหม จำนวน 3 โรง สามารถเลี้ยงหนอนไหมได้แล้ว 2 รอบ จุดที่ 2 ณ บ้านท่าเรือ ได้ปลูกต้นหม่อน ณ สวนสาธารณะหนองเรือ จำนวน 2 ไร่ 1,800 ต้น และปลูกตามหัวไร่ปลายนา สามารถเลี้ยงไหมได้ 5 รอบ จำนวน 6 โรงเลี้ยง จุดที่ 3 ณ โรงเรยนนางัวราษฎร์รังสรรค์ ปลูกต้นหม่อน จำนวน 300 ต้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน/เยาวชน สืบทอดและเรียนรู้ภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าของบรรพบุรุษ

นางจิรภา แมดมิ่งเหง้า รองประธานกลุ่มทอผไหมบ้านท่าเรือ นำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมย้อมสีธรรมชาติว่า พระองค์หญิงทรงพระราชทานเฉดสีเพื่อนำไปใช้ไล่โทนสีในการย้อมสีธรรมชาติ โดยการย้อมสีธรรมชาติวัตถุดิบหลักจะหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ใบไม้ เปลือกต้นไม้ ให้สีต่าง ๆ อาทิ ใบหูกวาง ใบเพา ใบสมอ จะให้โทนสีเหลือง เปลือกประดู่ จะให้โทนสีน้ำตาล เปลือกมะม่วง จะให้โทนสีเหลือง เป็นต้น

นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า นำเสนอเพิ่มเติมว่า การย้อมสีธรรมชาติจะทำให้ผู้ย้อม ผู้ทอ และผู้สวมใส่ ปลอดภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อำเภอนาหว้าได้ริเริ่มและรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกส่วนราชการ และชาวอำเภอนาหว้า หันมาปลูกต้นไม้ให้สี ซึ่งเรามีพื้นที่ตัวอย่างที่ปลูกไปแล้ว ได้แก่ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านนางัว มีปลูกต้นจาน ที่เป็นสัญลักษณ์นาหว้าโมเดล /ต้นหว้า /ต้นสัก /ประดู่ /คูณ/ เพกา /หูกวาง รวมกว่า 1,000 ต้น

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม นำเสนอเพิ่มเติมว่า ผืนผ้าที่ผ่านการค้น การสืบ การมัด การย้อมสีธรรมชาติ จากเส้นใยไหมที่เลี้ยงเอง ถูกทอออกมาได้อย่างสวยงาม ก็ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนงานสนองพระดำริ ตามภารกิจหลักของ “โครงการนาหว้า โมเดล” คือ การสืบสานภูมิปัญญาหัตถศิลป์พื้นถิ่น การฟื้นฟูลายผ้า การพัฒนาลวดลายใหม่ให้ทันสมัยสวมใส่ได้ทุกวัยทุกวัน และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพ ในวันนี้เกิดผลสำเร็จ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีอาชีพทอผ้า มีการออกแบบแปรรูปผ้า สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีอาชีพมีงานทำและมีรายได้ เกิดขึ้น ก็ด้วยความร่วมมือและตั้งใจมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน ซึ่งจากการดำเนินงานของศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายของ SDGs ใน 3 ประเด็น ดังนี้ ด้านการขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ด้านการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เกิดการจ้างงาน และการมีงานที่เหมาะสม ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ
การดำเนินกิจกรรมฯ ครั้งนี้ ได้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยเคร่งครัด