ข่าวอัพเดทรายวัน

ลดใช้สารเคมีทำการเกษตร

เกษตรจังหวัดนครพนม เสริมความรู้เกษตรกรผลิตสารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติต่อยอดสู่การสร้างรายได้และการเกษตรที่ยั่งยืนในชุมชน

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร กิจกรรมส่งเสริมลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อสร้างกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีความรู้ในการผลิตสารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ เน้นการใช้เพื่อทดแทนสารเคมี และเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ สามารถต่อยอดสู่การสร้างรายได้และการทำการเกษตรที่ยั่งยืนในชุมชน โดยมีเกษตรกรที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 36 ราย จากทั้ง 12 อำเภอ ในจังหวัดนครพนม

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 20 ปี ได้มีการกำหนดแนวทางพัฒนาภาคการเกษตร ด้านการส่งเสริมและขยายผลแนวคิดในการส่งเสริมการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นในการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่นับวันยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร และนอกจากนี้แล้วยังสามารถใช้แมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี สำหรับในจังหวัดนครพนม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลากหลายชนิด เช่น ข้าว ลิ้นจี่ สับปะรด มันสำปะหลัง แตงโม และพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสภาวะสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ และเกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีอยู่เดิม และอุบัติขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้พืชเกิดการชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ลดน้อยลง จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคต่างๆในพืชเศรษฐกิจ เช่น ลิ้นจี่ นพ.1 ก่อนที่จะออกดอกจะมีความต้องการอุณหภูมิต่ำ ประมาณ 10 – 20 องศาเซลเซียส ยาวนาน 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ต้นลิ้นจี่ นพ.1 ออกดอก และหากปีใดอุณหภูมิไม่เป็นไปตามที่พืชต้องการก็จะทำให้ไม่มีการออกดอกและให้ผลผลิต อีกทั้งศัตรูพืชที่สำคัญที่พบในการเข้าทำลายคือ หนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ ซึ่งทำให้ผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่นั้นเกิดความเสียหาย และจากปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลต่อการเพาะปลุกพืชของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครพนมได้ เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง ความมั่นคงด้านแหล่งอาหารอาจลดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการที่จะป้องกันและควบคุมศัตรูพืชที่อาจจะเกิดขึ้นให้ทันต่อสถานการณ์ ด้วยการสร้างเกษตรกรต้นแบบที่มีความรู้และทักษะในการผลิตสาร ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมดำเนินการ โดยแบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การฝึกอบรมเกษตรกรต้นแบบการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร ภายใต้หลักสูตร “การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ เพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่การเกษตร” โดยจะดำเนินการจัดอบรมแบบต่อเนื่องเป็นจำนวน 3 วัน เพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ จำนวน 36 ราย กิจกรรมที่ 2 การศึกษาดูงานการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งนำเกษตรกรที่ผ่านการอบรมไปศึกษาดูงานภายในศูนย์การผลิตและจัดการแมลงสารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์และปรับใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีการสาธิตและถ่ายทอดความรู้การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ ให้กับเกษตรกรได้ฝึกทดลองปฏิบัติและลงมือทำจริง โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ถ่ายทอดความรู้ เช่น การเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบ มวนตัวห้ำ (มวนพิฆาต และมวนเพชฌฆาต) การเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยการขยายเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมตตาไรเซียม และชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis (BS DOA-24) จากการที่เกษตรได้เรียนรู้ ทำให้เกิดทักษะ มีความเข้าใจส่งผลให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดและขายยายผลให้กับเกษตรกรและชุมชน ประยุกต์ใช้ความรู้ในการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดการใช้สารเคมีในพื้นที่การเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมั่นคง