ข่าวอัพเดทรายวัน

องค์กรต้านทุจริตฯ เปิดเวทีถล่มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ห่วงเข้าข่ายชี้นำ-กดดันศาล

“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” เปิดเวทีสาธารณะถามหาส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบ. ประมูล “รถไฟสายสีส้ม (ตะวันตก)” ไร้ผู้แทน “รฟม.-BEM” ร่วม “กุนซือ BTS-สามารถ” สับแหลกกีดกันเอกชนบางราย อีกด้านห่วงตั้งเวทีวิจารณ์ทั้งที่เรื่องอยู่ในชั้นศาล อาจเข้าข่ายกดดันศาล ชี้ประเด็นเก่าที่บางคดีศาลยกฟ้องไปแล้ว

วันนี้ (21 ต.ค.65) ที่ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน กทม. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ได้เปิดเวทีสาธารณะค้นหาความจริง “กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟสายสีส้ม ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯต้องมีคำตอบ” โดยมี นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT, พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS), นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายสุเมธ องกิติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมเป็นวิทยากร

นายมานะ กล่าวตอนหนึ่งว่า การดำเนินโครงการในลักษณะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะว่าหากปล่อยให้เสียหายไปแล้ว อย่างตอนนี้มีประเด็นเกี่ยวกับวงเงินขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เอกชนผู้ชนะการประมูล กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ที่ไม่ได้เข้าร่วมการประมูล ที่แตกต่างกันถึงราว 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐอาจจะสูญเสียไป สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหวนคืนมาได้

ขณะที่ นายสามารถ ตั้งข้อสังเกตจากการติดตามการประมูลโครงการฯมากว่า 2 ปี 10 ข้อ อาทิ หาก รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ต่ำแค่เพียง 9,675.42 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท และเหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลงในการประมูลครั้งที่ 2 แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น ซึ่งหาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ BTSC ร่วมกับ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ ACT ควรทบทวนบทบาทของตนเองในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปร่วมสังเกตการประมูล หากผู้สังเกตการณ์ไม่รักษาจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ACT ก็จะกลายเป็นตรายางรับรองการประมูลว่า ไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจาก รฟม. และ BEM ผู้ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก เข้าร่วมตามที่มีการระบุไว้ในกำหนดการของทางผู้จัดแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า จากการติดตามการจัดเวทีสาธารณะขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งข้อมูลจากวิทยากรบนเวทีวันนี้เป็นข้อมูลที่เคยออกมาคัดค้านการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก แล้วทั้งสิ้น

และเชื่อว่า ทาง BTSC ในเครือ BTS ที่เป็นผู้ฟ้องคดีจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาไต่สวนของศาลปกครอง อย่างไรก็ดีมีความเป็นห่วงว่า การให้ความคิดเห็น หรือการจัดเวทีในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายชี้นำ หรือกดดันกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากขณะนี้คดีความต่างๆกำลังอยู่ในชั้นศาล อีกทั้งคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เกี่ยวกับการล้มประมูลครั้งแรกนั้น ศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักในหลายประเด็น

ต่างจากกรณีที่ทาง รฟม.ดำเนินการประมูลครั้งใหม่จนได้ผู้ชนะ เพราะศาลปกครองกลางได้ยกคำร้อง ตามที่ BTSC ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ไปแล้ว ทำให้ รฟม.สามารถดำเนินการตามกระบวนการได้.