ข่าวอัพเดทรายวัน

“นวัตกรชุมชน”ปัจจัยสำเร็จสู่พะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ยูเนสโก

“ผู้พิการบางคนพอทำงานได้ แต่ไม่มีใครจ้าง หากเราฝึกอาชีพ สอนเขาให้เขาทำชิ้นงานอยู่บ้านได้เขาก็มีอาชีพ เช่นกันกับบุคคลออทิสติกซึ่งมีหลายระดับ คนที่ทำงานได้ช่วยเหลือตัวเองได้ หากเขามีรายได้เขาก็จะพึ่งตนเองได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่น”

 
จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย  ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเชียงราย ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดน่าน และแขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดลำปาง

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพะเยา เป็นที่ราบสูงและภูเขา มีระดับความสูงตั้งแต่ 300–1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเทือกเขาอยู่ทางทิศตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้และตอนกลางของพื้นที่ จังหวัดมีเนื้อที่ประมาณ 6,335.06 ตารางกิโลเมตรมีขนาดใหญ่ เป็นลำดับที่ 15 ของภาคเหนือ  

จังหวัดพะเยามีพื้นอยู่ทั้งในที่ลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขง คือพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอเชียงคำ และอำเภอแม่ใจ ส่วนที่อยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อำเภอปง และ อำเภอเชียงม่วน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยม

ที่สำคัญจังหวัดนี้มีสถานที่สำคัญคือ กว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง “บึง” เกิดขึ้นจากกรมประมงได้ทำประตูกั้นน้ำไว้เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง และในฤดูฝนก็กั้นไม่ให้น้ำไหลแรงไปท่วมเรือกสวนไร่นาที่อยู่ปลายน้ำ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่าง ๆ 18 สาย มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธุ์ปลาน้ำจืดถึง 45 ชนิด และที่นี่กลายเป็น “พื้นที่ชีวิต” ของคนที่ทำมาหากินรอบกว๊านพะเยาหลายแสนคน
วิกฤติโควิด – 19 ส่งผลกระทบให้กับจังหวัดนี้ไม่แพ้จังหวัดอื่น มีคนกลับมาบ้านเพราะตกงาน มีคนขาดรายได้เพราะไม่มีคนซื้อสินค้า ไม่มีคนจ้างงาน ผลกระทบดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยพะเยา โดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการ Phayao Learning City  ได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “Phayao Learning City”เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยได้หารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ประชาชน และประชาสังคม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นการจัดการเรียนรู้ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงคนด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ ออทิสติก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน เพศใด ก็จะต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ไปด้วยกัน  

รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์

การวิจัยได้มองที่ต้นทุนทางสังคมที่เมืองพะเยามี โดยเฉพาะปราชญ์ชุมชน ผู้รู้ ที่เปรียบเสมือนนวัตกรชุมชน ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เมื่อเกิดวิกฤติคนว่างงาน จึงได้นำเอานวัตกรชุมชนเหล่านี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้ เป้าหมายคือสร้างอาชีพ เสริมรายได้ และอยู่ได้ในภาวะแบบนี้

“โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้แล้วสร้างรายได้ให้เขาอยู่รอด พอไปคุยกับนายกเทศมนตรีท่านก็เอาด้วยเพราะเห็นปัญหา จึงได้จัดการเรียนรู้ เริ่มต้นจากคนในเขตเทศบาลก่อน ก่อนจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่น เอาพื้นที่ที่มีมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เชื่อมโยงคนในชุมชน เมื่อเขาเรียนรู้ได้ ก็ผลิตสินค้าไปจำหน่าย ทางมหาวิทยาลัยก็ไปหนุนเสริมด้านตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อให้เขามีอยู่มีกิน การฝึกอาชีพมีทั้งเย็บกระเป๋า ทำตะกร้า ปักผ้า ฯลฯ สอนในสิ่งที่เรามีนวัตกรชุมชนและสอนในสิ่งที่คนเรียนอยากเรียน และผู้เรียนของเรายังสามารถเก็บหน่วยกิตเพื่อรับใบประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยพะเยาอีกด้วย โดยงานวิจัยของเราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เขามาหนุนเสริมทำให้ได้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา”ดร.ผณินทรา เล่าถึงสิ่งที่ทำในกระบวนการวิจัย “Phayao Learning City”
ในขณะที่ปราชญ์ชุมชน หรือนวัตกรชุมชนที่เขามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของ “Phayao Learning City” อย่างพี่แหม่ม หรือ สุนทรีย์ มหาวงศ์ รองประธานกลุ่มเย็บกระเป๋าผ้าด้นมือวัดเมืองชุม ที่เข้ามาสอนผู้สนใจในการเย็บกระเป๋าผ้าแบบด้นมือจนกลายเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างดีสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม จากการที่เคยนำเอาผ้าพื้นบ้านมาผลิต แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งนำมาสู่การปรับปรุง แนะนำจากโครงการวิจัย จนทุกวันนี้กระเป๋าผ้าด้นมือของกลุ่มกลายเป็นสินค้าของที่ระลึกของพะเยาได้อย่างน่าชื่นชม

สุนทรีย์

“แต่ก่อนเราทำแบบตามความถนัด ผ้าก็ใช้ผ้าพื้นเมืองมาทำ พอขายก็ขายให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ อาจจะเป็นนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ราคาก็หลักสิบ แต่พอมาเข้าร่วมโครงการและได้รับคำแนะนำจากทางอาจารย์ ทำให้ได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยนำเอาผ้าญี่ปุ่นที่นิ่มและสีสันสวยงามมาทำ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยแถมยังมีการปักลวดลายเพิ่มเติม โดยเอาลายปลาปักเป้ากว๊านพะเยาและลายนากที่อยู่ในกว๊านพะเยามาทำ ปรากฏว่าขายดีมากตอนนี้หลายคนที่อยากจะมาเรียนเพื่อจะได้มีรายได้เสริม”พี่แหม่มเล่าต่อ ถึงสิ่งที่เธอได้สอนให้คนมีอาชีพและสร้างรายได้ในช่วงที่ผ่านมา
เช่นกันกับ ชรีพร ยอดฟ้า หรือพี่ต๋อย ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ที่ได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยนี้ ด้วยการเป็นนวัตกรสอนการทำกระเป๋าจากผักตบชวาและตกแต่งแบบ “เดคูพาจ” ซึ่งมีสีสันสวยงาม เพิ่มมูลค่าผักตบชวาที่เป็นเพียงกอสวะในกว๊านพะเยา ให้มีราคาจนทุกวันนี้ผักตบชวาเริ่มจะหายาก จนต้องสั่งซื้อจากต่างจังหวัดเข้ามา ส่งผลให้ต้นทุนแพงกว่าเดิม นอกจากนั้นเธอยังผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้พิการและกลุ่มบุคคลออทิสติกด้วย

ชรีพร ยอดฟ้า หรือพี่ต๋อย

“ผู้พิการบางคนพอทำงานได้ แต่ไม่มีใครจ้าง หากเราฝึกอาชีพ สอนเขาให้เขาทำชิ้นงานอยู่บ้านได้เขาก็มีอาชีพ เช่นกันกับบุคคลออทิสติกซึ่งมีหลายระดับ คนที่ทำงานได้ช่วยเหลือตัวเองได้ หากเขามีรายได้เขาก็จะพึ่งตนเองได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ตรงนี้สำคัญเพราะการเรียนรู้ควรจะลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ คนด้อยโอกาสต้องเข้าถึง และอนาคตอยากจะเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนซึ่งมีคนสูงอายุอยู่มากได้มีอาชีพ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และมีเงินใช้จ่ายในครอบครัว”พี่ต๋อยบอก

จากปี 2563 จนถึงวันนี้ “Phayao Learning City” มีแหล่งเรียนรู้มากถึง  26  แห่ง ทั้งแหล่งเรียนรู้ที่เป็นของรัฐ และเอกชน มีนวัตกรในโครงการหลายสิบคน และมีผู้สำเร็จการเรียนรู้ไปหลายร้อยคน ซึ่งทุกคนล้วนมีรายได้หลังจากเข้าร่วมเรียนรู้แล้ว และมีหลายคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อสนองความต้องการของตนเอง ทั้งคลายเหงา ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด พวกเขาบอกว่าการมาเรียนรู้ร่วมกันนอกจากความรู้แล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ “มิตรภาพ” ได้เพื่อนใหม่ ได้รู้จักคนใหม่ ๆ หลายคนจากผู้เรียนได้ยกระดับเป็นผู้สอน เป็นนวัตกรที่พร้อมหนุนเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ให้ก้าวไปข้างหน้า และที่ผ่านมาเพราะความร่วมมือร่วมใจ ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนนี่เอง ทำให้จังหวัดเล็ก ๆ อย่างพะเยาแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Learning City นั่นเอง