ข่าวอัพเดทรายวัน

จังหวัดเลยจัดกิจกรรมใส่ผ้าไทยไปงานสืบสานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ วัดป่าสามัคคีธรรม

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 เวลา 17.00 น. ที่ วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านห้วยทรายคำ หมู่ที่ 6 ต.นาแขม อ.เมืองเลย จ.เลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานการแถลงข่าว “งานสืบสานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ ” ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยมี พระอธิการเอกสิทธิ์ กิตติคุตโต เจ้าอาวาสวัดป่าสามัคคีธรรม นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ ปลัดจังหวัดเลย นายวุฒิพงศ์ พรมหมภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน วัชรชิโนรส ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเลย และนางสาวณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดเลย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการงาน

พระอธิการเอกสิทธิ์ กิตติคุตโต เจ้าอาวาสวัดป่าสามัคคีธรรม กล่าวว่า การจัดงานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ปีนี้เป็นปีที่ 9 จุดเริ่มต้นของกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ คือ “ความเสียดาย” จากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น กะลามะพร้าวและเศษผึ้งเศษเทียน ที่ญาติโยมนำมาใช้ในงานกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด จึงมีแนวคิด “ทำกระทงกะลาลอยเคราะห์” โดยนำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็น “กระทง” เศษผึ้งเศษเทียน มาประดิษฐ์เป็น “กลีบดอกบัว”วางกึ่งกระทงกะลา และนำเศษผ้าพันใส่เทียน แล้วนำกระทงกะลาที่สมบูรณ์ เข้าในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ก่อนนำกระทงกะลาไปลอย ทั้งนี้กระทงกะลา 1 อัน แทนอายุ 12 ปี ซึ่งปีแรกๆ ทำ“กลีบดอกบัว” สีเหลืองอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน ได้ทำ“กลีบกระทง” ให้ครบ 7 สี (สีประจำวันเกิด) ตามความเชื่อของแต่บุคคล เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้ลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ ซึ่งวัด ได้ส่งเสริมแนวคิดให้คนในชุมชน เรื่องหลัก 3 R การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ ด้วยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle) ผ่านการจัดงานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ เป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เยาวชน และผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับกิจกรรมที่ทางวัดป่าสามัคคีธรรมได้จัดทำขึ้นเพื่อ ส่งเสริมเยาวชนในชื่อว่า “ละจากหน้าจอ ล้อหมุน ไปทำดี”

นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ความอย่างยั่งยืน ภายใต้ประเด็นการพัฒนาจังหวัดเลย โดยนำเอามิติของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และวิถีชุมชน มานำเสนอเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเลย การจัดงานประเพณีลอยกระทง ที่นี้ ใช้ “กะลามะพร้าว” มาเป็นวัสดุหลัก เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 (Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (2)บริหารจัดการการใช้ประโยชน์และบริโภคอย่างยั่งยืน (3) ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (4) สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ(5) สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว