ข่าวอัพเดทรายวัน

ขอนแก่น ไล่ออกกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เบื้องต้นพบจำนวน 21 ราย

จังหวัดขอนแก่น เตรียมใช้มาตรการไล่ออกกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เบื้องต้นพบจำนวน 21 ราย ขณะที่ฝ่ายปกครองขอนแก่น ร่วมกับตำรวจ เปิดปฏิบัติการ ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 11 พ.ย. 65 ที่ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต ต.นพเก้า โสมนัส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น และนายภิญโญ โฆสิต ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปส.ภาค 4 ได้ร่วมแถลงข่าวและประชุมรับฟังแก้ไขปัญหายาเสพติด ของ26 อำเภอ จังหวัดขอนแก่น หลังได้มีการสั่งการในการแก้ไขปัญหาเสพติด

“ตามยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น หลังได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ปกครองและตำรวจ ร่วมออกกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งยาเสพติด อาวุธปืน โดยผลของการปฎิบัติการ สามารถยึดยาบ้ากว่า 760,000 เม็ด ไอซ์ และยาอี รวมทั้ง อาวุธปืน อาวุธสงคราม วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก เป็นของกลางที่ชุดปฏิบัติการ” ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น” ตรวจยึดได้ หลังจากกระจายกำลังตรวจค้น พื้นที่เป้าหมาย กว่า 880 แห่ง เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 10 ต.ค- 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนปืน จับกุมได้ 192 คดี ผู้ต้องหา 192 คน อาวุธปืน 184 กระบอก เครื่องกระสุนปืน 506 นัด/ความผิดเกี่ยวกับ “จำหน่าย” อาวุธปีน วัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนปืนจับกุมได้ 2 คดี ผู้ต้องหา 2 คน/ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จับกุมได้ 1688คดี ผู้ต้องหา 1,689 คน”

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า นอกจากยุทธการพิทักษ์ขอนแก่นแล้ว ทางจังหวัดขอนแก่น ยังได้มีการกวาดบ้านตนเองโดยได้มีการตรวจหาสารเสพติดของข้าราชการ ขณะนี้พบว่าหลังจากที่มีการตรวจไป พบเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 21 นั้น แม้ทางกฎหมายจะถือว่าไม่มีความผิด แต่โทษทางวินัยตามกฎ กพ.ที่กำหนดไว้คือ โทษอย่างต่ำปลดออก สูงสุดคือไล่ออก ลดหย่อนได้ไม่เกินปลดออก ที่จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข ท้องถิ่น อำเภอ ตำรวจ โรงพยาบาล ต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังโดยจะต้องมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้นหาผู้เสพ ซึ่งตามกฎหมายถือว่า ผู้เสพ คือเป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา นั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม เนื่องจากผู้ป่วยสีแดงที่สมองถูกทำลายจากฤทธิ์ของสารเสพติดจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาในสภาวะปกติได้ บางรายการมีอาการคุ้มคลั่ง หวาดระแวง จิตหลอน อาละวาด เป็นอันตรายต่อสังคมและคนรอบข้าง จะนำเขาไปไว้ที่ไหน ทำอย่างไรที่จะใช้กระบวนการชุมชนมาช่วยในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้แนวทาง CI หรือการแยกกักตัวในชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล

ซึ่งได้มีการดำเนินการในพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี เป็นโมเดลต้นแบบ ที่ประสบผลในระดับที่น่าพอใจ โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่เวรสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลกลุ่มนี้ ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง หน่วยงานด้านสาธารณสุข ดูแลรักษาให้ยาลดความเครียด และจัดกิจกรรมบำบัด มีการฝึกอาชีพ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อคนในชุมชน และค้นหากลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เพื่อสกัดยับยั้งปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยกลุ่มสีแดงเพิ่มมากขึ้น