ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรนครพนม พัฒนาทักษะ สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ ระบาดของไวรัสโควิดได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน รวมถึงทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐและความสามารถในการจัดหาทรัพยากรในการพยุงเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เพื่อเป็นการรักษาการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ จากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนภาคการเกษตรจะให้ความสำคัญต่อการเกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหาร ที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพ มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

และเพื่อให้ประชาชนจังหวัดนครพนมได้มีทักษะในการประกอบอาหารที่มีความอร่อย ได้มาตรฐาน ในรสชาติที่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพื่อนำไปต่อยอดเสริมสร้างเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมจึงได้จัดให้มีการอบรมให้กับเกษตรกรที่สนใจจำนวน 2 รุ่น ๆ ละ 200 คน ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร เทคนิคน้ำพริกสมุนไพรสุขภาพ “ดักแด้” และหลักสูตร เทคนิคการผลิตชุดซุปแจ่วฮ้อนหม้อไฟ ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป โดยน้ำพริกสมุนไพรสุขภาพ จะเป็นการนำเอาดักแด้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในพื้นที่ ที่หาได้ทั่วไปเพราะชาวนครพนมมีการเลี้ยงหม่อนไหมมาเป็นตัวชูโรง เพราะมีโปรตีนสูงถึง 60 – 62 % นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตตามินบี1 บี2 และวิตามินอี ในปริมาณสูง ที่จะมาบำรุงร่างกายให้กับผู้ที่รับประทาน ขณะที่ไขมันจะมีเพียง 15 – 18 % เท่านั้น ส่วนซุปแจ่วฮ้อนหม้อไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่คนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอีสานชอบทาน เพราะอัดแน่นไปโภชนาการและพืชสมุนไพรนานาชนิด ที่มีคุณค่าทางอาหารและบำรุงสุขภาพ ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรจะเน้นให้ทุกคนนำวัตถุดิบที่ตนเองผลิตได้ในแปลงเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก หรือถ้าหาไม่ได้ก็ให้หาจากเพื่อนเกษตรกรในชุมชนเดียวกันมาใช้ หรือถ้าไม่มีก็ใช้วิธีการประยุกต์ดัดแปลงวัตถุดิบให้เป็นเมนูอาหารอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างในรูปลักษณ์ รสชาติ และความอร่อย บนพื้นฐานของความสะอาดที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถ้าทุกคนสามารถทำได้ในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดเป็นอาชีพเสริมที่สนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรในชุมขนที่ก่อให้เกิดรายได้กับทุกคน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และในอนาคตจะกลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออกจำหน่ายทั่วไปอย่างแน่นอน