ข่าวอัพเดทรายวัน

ศรีสะเกษ เปิดเวทีถอดบทเรียน หลังน้ำลด ร่วมเรียนรู้ผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2565 ชุมชนตั้งรับปรับตัวสู่การลดทอนความเสี่ยงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมถนอม อินทรกำเนิด ชั้น 2 ศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อำเภอเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ร่วมเรียนรู้ผลกระทบน้ำท่วม ปี 2565 ชุมชนตั้งรับปรับตัวสู่การลดทอนความเสี่ยงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติและผลกระทบ ตลอดจนหาแนวทางการลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน ตลอดจน เครือข่ายจากหลายพื้นที่ ประกอบด้วย เครือข่ายนักวิจัยจังหวัดยโสธร และจังหวัดชัยนาท ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เป็นหนึ่งวาระจังหวัดที่สำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม อีกทั้งยังมีการจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสบกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ ก็มีบทบาทสำคัญ ในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม แบบเรียลไทม์ เรื่องของระบบฐานข้อมูล และเป็นอีกส่วนหนึ่งสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ให้ผ่านพ้นไปได้ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการจัดประชุมในวันนี้ จังหวัดศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งการประชุมในวันนี้ เป็นการสร้างความเรียนรู้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ กับสภาวะความเสี่ยงและผลกระทบภัยพิบัติในพื้นที่

นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาความยากจนเป็นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อรายรับของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ซึ่งไม่มีต้นทุนเดิมในการดำรงชีพ จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน วางแผน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและสัมฤทธิ์ผลต่อไป