ข่าวอัพเดทรายวัน

วช. ร่วมกับ กฟผ. ส่งเสริมอาชีพ ชุมชน จ.ขอนแก่น สร้างรายได้จากการเลี้ยง “ผึ้งชันโรง” พัฒนาการเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงเครือข่าย ต่อยอดธุรกิจชุมชน

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 20 พ.ย.65 ที่ ศูนย์เรียนรู้สวน “นา 3 ดี” อ.เมือง จ.ขอนแก่น ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. เป็นประธานเปิดงาน การส่งเสริมอาชีพชุมชนใต้แนวสายส่ง การเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น โดยดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานฯ นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับฯ และมีนายกิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ เจ้าของสวนสวน “นา 3 ดี” เข้าร่วมกิจกรรม

โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” พัฒนาการเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรงแก่ชุมชนในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น พร้อมเปิดการฝึกอบรมการส่งเสริมอาชีพชุมชนใต้แนวสายส่ง การเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น

“โครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” เป็นการนำจุลินทรีย์ที่คัดแยกจากรังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ถ้วยดำในภาคเหนือมาพัฒนาเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติก ผสมกับอาหารเสริมหลักที่มีเกสรผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำเปล่า เป็นส่วนประกอบ และมีกากถั่วเหลือง ถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม และโปรตีนสำเร็จรูป เป็นส่วนประกอบเสริมทำให้ผึ้งชันโรงมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตสูง เพิ่มการสร้างตัวอ่อนในรังและสร้างถ้วยน้ำหวานเพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตและสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ทั้งปีอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงต่อมาอาหารเสริมสำหรับผึ้งชันโรงจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่อื่นของประเทศและมีความต้องการในการต่อยอดขยายผล ผึ้งชันโรงแต่ละสายพันธุ์มีความต้องการอาหารที่จำเพาะและแตกต่างกัน โดยสูตรอาหารเสริม ดังกล่าวข้างต้น ถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับผึ้งชันโรงในพื้นที่ภาคเหนือโดยจำเพาะสายพันธุ์ถ้วยดำ”

วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม เห็นความสำคัญของการขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงมาอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับสายพันธุ์ชันโรงในภาคเหนือ เพื่อทดแทนการขาดแคลนอาหารของชันโรงในช่วงที่อาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ และเพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2563 เรื่อง “การพัฒนาการเพาะเลี้ยง และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผึ้งชันโรง” ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหัวหน้าทีมวิจัย และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง โดย ดร.จักราวุธ ไม้ทิพย์ เป็นผู้ดูแลโครงการฯ

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ร่วมกับ 9 องค์กร แสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชน และพัฒนาแบรนด์ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงขอนแก่น” ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่าย Big Brother หรือ พี่เลี้ยง วช.

ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Big Brother และฐานะองค์กรพี่เลี้ยงหลักในกลุ่มสนับสนุนการวิจัย เห็นถึงความร่วมมือจากเครือข่ายอย่างมุ่งมั่น เพื่อนำหลัก Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรที่เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และนำชุมชนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันของเครือข่าย ในรูปแบบพี่เลี้ยง

“ที่ผ่านมาได้จัดการฝึกอบรมมา 2 ครั้ง จัดครั้งที่ 1 จังหวัดระยอง มีบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 2 จังหวัดสมุทรปราการ มีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเจ้าภาพ และจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งที่ 3 มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทย โดยฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเจ้าภาพ โดยการอบรมในวันนี้เป็นการขยายการเลี้ยงมาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ และโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องร่วมกันส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชุมชนผ่านการส่งเสริมการสร้างรายได้ชุมชนจากการเลี้ยงผึ้งชันโรง”

ทั้งนี้ จากความร่วมมือของ Big Brothers เป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของแบรนด์ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้อย่างมั่นคงและพอเพียง