ข่าวอัพเดทรายวัน

กาฬสินธุ์เดินหน้ามีส่วนร่วมสร้างถนนเลี่ยงเมืองเส้นใหม่แก้จราจรแออัดเข้าตัวเมือง

จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง บริษัท เอ็ม.วี.เอส คอนซัลแท้นส์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน ร่วมประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) คาดสามารถดำเนินการในอีก 3 ปีข้างหน้า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องประชุมชมทศพร โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) โดยมีนางนางดวงตา พายุพล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ นายเทวินทร์ ติรัตนะประคม ผู้จัดการโครงการฯ กรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการ ตัวแทนบริษัท ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการที่ จ.กาฬสินธุ์มีแนวโน้มการขยายตัวและการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเกษตร การท่องเที่ยว การบริการ การขนส่งที่สูงขึ้น มีผลให้เกิดความต้องการการเดินทางเพื่อการค้าการลงทุน การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง เพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง จึงควรที่จะต้องมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงถนนทางหลวงปัจจุบัน ถนนวงแหวน รอบเมืองกาฬสินธุ์ ทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่ ให้เป็นทางเลือกใช้เป็นทางเลี่ยงเมือง สำหรับผู้เดินทางระยะไกลที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตตัวเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัดและติดขัดของการจราจรในเขตเมือง อีกทั้งเป็นการเปิดพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวด้านทิศเหนือของเมือง เช่น เขื่อนลำปาว, สะพานเทพสุดา, วัดพุทธนิมิตร (ภูค่าว), วัดพุทธาวาส ภูสิงห์, พิพิธภัณฑ์สิรินธร และแหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

ด้านนางดวงตา พายุพล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์กล่าวว่า จากความสำคัญในการเพิ่มเส้นทางจราจร รองรับการเติบโตของเมือง และการคมนาคมขนส่งดังกล่าว กรมทางหลวง จึงได้มีโครงการสำรวจและออกแบบ ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์(ด้านเหนือ) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัดในเขตเมือง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในโครงข่ายทางหลวงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และผู้ใช้เส้นทาง สำหรับทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์(ด้านเหนือ) ได้ทำเรื่องขอมานานพอสมควร กระทั่งมีการสำรวจและออกแบบ เพื่อสรุปโครงการทางเลี่ยงเมืองเส้นใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งจะมีระยะทางประมาณ 20 กม.

“ทั้งนี้ กรมทางหลวง จึงได้ดำเนินการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบ เพื่อให้บริการในการสำรวจและออกแบบรายละเอียด จัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ตลอดจนดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ดังกล่าว” นางดวงตากล่าว

ขณะที่นายเทวินทร์ ติรัตนะประคม ผู้จัดการโครงการฯ กรมทางหลวง กล่าวว่าทางเลี่ยงเมืองเส้นนี้ อยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ เพื่อเป็นทางเลี่ยงเมืองใหม่ เพื่อลดความแออัดด้านการจราจร สนับสนุนการขนส่ง ซึ่งจากการทำประชาพิจารณ์ ชาว จ.กาฬสินธุ์ให้การตอบรับดี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผู้นำและผู้แทนของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ เข้าร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้กรมทางหลวงและบริษัทที่ปรึกษา สามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และให้มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และการสัญจรของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด

“อย่างไรก็ตาม จัดการประชุมในวันนี้ เพื่อนำเสนอ ผลสรุปการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และรับฟัง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ จากผู้เข้าร่วมประชุม และนำความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะที่ได้ ไปใช้ในการพิจารณาประกอบในการศึกษาของโครงการ ให้มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ ทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการต่อไป ทั้งนี้ หากทุกขึ้นตอนแล้วเสร็จ จะสามารถดำเนินการได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า” นายเทวินทร์กล่าว