ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรกลุ่มเครือข่ายลุ่มน้ำชีชุมนุมทวงถามการแก้ปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชี

กลุ่มเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธรและจังหวัดร้อยเอ็ดกว่า 500 คน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์เพื่อสื่อสารสาธารณะก่อนจะไปร่วมปักหลักชุมนุมที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีของภาครัฐ

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธรและจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนกว่า 500 คน ร่วมกันเดินรณรงค์เพื่อสื่อสารสาธารณะจากบริเวณสวนสาธารณะบุ่งน้อย – บุ่งใหญ่ เขตเทศบาลเมืองยโสธร ไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ก่อนจะไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณอาคารโดมสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร- พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย จังหวัดอุบลราชธานี ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำชีทั้ง 2 จังหวัด คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีและเป็นระยะเวลายาวนานจนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โดยมีการสลับผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยของแกนนำ รวมทั้งจัดเวทีเสวนา เว้าจาภาษาคนลุ่มน้ำชี และการอ่านแถลงการณ์ทวงสัญญาการแก้ปัญหาเขื่อนน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ก่อนจะมีการยื่นหนังสือให้กับตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในฐานะคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย จังหวัดอุบลราชธานี

นายจันทรา จันทราทอง แกนนำเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตามที่มติคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี พ.ศ. 2543 – 254) จากโครงการฝายร้อยเอ็ด,โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 22 กันยายน 2565 เวลา14.00 น. ณ ห้องประชุมหมอนขิด ชั้น 2 ศาลากลางยโสธร เพื่อเป็นการวางกรอบแนวทางและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนเพื่อรับทราบและติดตามผลการดำเนินงาน นั้น มติที่ประชุม 1.ส่งมอบข้อมูลให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำไปตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (1 ตุลาคม – 31 ตุลาคม 2565) 2.ประชุมคณะทำงานฯรายงานผลการดำเนินงานและสรุปผล พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี พ.ศ. 2543 – 2547) (1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน) 3.ประกาศรายชื่อและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หากไม่เห็นด้วยให้อุทธรณ์ภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ประกาศ (15พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2565) 4.รายงานผลการดำเนินงาน สรุปผลกรตรวจสอบพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจาก โครงการฝายยโสธร – พนมไพร จังหวัดยโสธร (1 ธันวาคม – 15 ธันวาคม 2565) 5.มอบฝ่ายเลขากำหนดกรอบ วิธีแนวทางดำเนินการในกรณีที่เอกสารสิทธิ์ไม่ใช่โฉนดที่ดิน และตามที่มติคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี พ.ศ. 2543- 254) จากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ได้ประชุมเมื่อวันอังคาร ที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โปรมแกรม Zoom) มติที่ประชุม 1.มอบหมายให้ตัวแทนคณะทำงาน จำนวน 4 ท่าน ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการแปลงข้อมูลภาพถ่าย ได้แก่ 1.นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง 2.นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนกลุ่มเกษตร 3.ตัวแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด 4.อาจารย์กิตชัย ดวงมาลย์ อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ลดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน (ข้อ 3) ส่งมอบข้อมูล ดิจิตอลไฟล์นำไปตรวจสอบจัดทำข้อมูลพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เดิม (1 ตุลาคม – 30พฤศจิกายน 2565) รวม 60 วัน เป็น (1 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2565) รวม 45 วัน 3. เห็นชอบ กรอบระยะเวลาในการดำเนินงานของคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ(ปี พ.ศ.2543-2547) จากโครงการฝายร้อยเอ็ด และฝายยโสธร- พนมไพร

ดังนั้นทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร จึงทวงสัญญาและมีข้อเสนอดังนี้ 1.กรอบระยะเวลาของกระบวนการแปลงภาพถ่ายจะแล้วเสร็จวันไหน และ 2. กำหนดวันการประชุมคณะทำงานฯ ในการรับรองพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร วันไหน