ข่าวอัพเดทรายวัน

มุกดาหาร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับ เสวนาเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานลม ใครได้ประโยชน์

วันที่ 4 ธ.ค. 65 นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน อายุ 38 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย พร้อมด้วยชาวบ้านตำบลคำป่าหลาย ได้ร่วมวงเสวนา เรื่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคำป่าหลาย ใครได้ประโยชน์ ที่บริเวณน้ำซับคำป่าหลาย หมู่ 13 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน อายุ 38 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า กิจกรรมเสวนาของเราในวันนี้ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้ทำทุกปีอยู่แล้ว โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย เกิดขึ้นจากการต่อสู้คัดค้านเรื่องเหมืองแร่เหมืองหินที่อยู่ตรงนี้ เมื่อปี 60 ปัจจุบันสภาเทศบาล ได้มีมติไม่เห็นชอบในการใช้พื้นที่ป่า ต่อมาปีเดียวกันมีนโยบายทวงคืนฝืนป่า ซึ่งทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว ได้ตั้งคำถามว่า ทวงคืนผืนป่าเพื่อเหมืองแร่หรือเปล่า เป็นการยื้อแย่งกันระหว่างรัฐบาลกับนายทุน หลักการชาวบ้านได้ขับเคลื่อนจนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา จากจังหวัดและจากส่วนกลาง ให้พี่น้องผ่อนปรนเข้าทำกินในที่ดินได้ ถึงแม้จะมีมติ ครม. ให้เข้าทำกินในที่ดินแล้ว หลังจากกำลังจะเข้าไปทำกินในที่ดิน ก็มีเจ้าหน้าที่มาทำการปักหมุด ไม่ทราบว่าทำอะไร ก็พยายามไปสอบถามทางราชการก็ไม่มีคำตอบ มารู้อีกทีว่าเจ้าหน้าที่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมของเทศบาลตำบลคำป่าหลาย

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวอีกว่า ชาวบ้านก็ได้ยื่นหนังสือคัดค้านทางเทศบาลฯ จนถึงปัจจุบันมีการเคลื่อนไหว ระดับจังหวัดไปจนถึงเวทีระดับประเทศก็ได้พูดมาแล้ว โดย BCG ก็ได้ส่งตัวแทนเข้าคุยแล้ว โดยโครงการกังหันลมก็เป็นหนึ่งโครงการกังหันลม มันย้อนแย้งกัน ในเมื่อบอกว่าพลังงานสะอาดคือพลังงานลม พลังงานสะอาดพลังงานลม พื้นที่โครงการกำลังจะไปทับที่ของชาวบ้าน กำลังจะไปทำลายพื้นที่อุดมสมบูรณื ที่ชาวบ้านทำมาหากิน ซึ่งมีพื้นที่หลายร้อยไร่ รายงานกรมป่าไม้ก็พยายามจะบอกว่า คืนพื้นที่โดยทวงคืนผืนป่า 40 % ในประเทศไทย เกิดความย้อนแย้งกัน รัฐเองกำลังพยายามให้นายทุนเข้าทำลายพื้นที่ป่า ทำลายความอุดมสมบูรณของชาวบ้าน อ้างว่าเป็นป่าเสื่อมดทรม มันอ้างไม่ได้ ชาวบ้านเข้าทำกินก็บอกว่าชาวบ้านบุกรุก ในวันนี้เป็นการพูดคุยกับชาวบ้านว่า มันเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับนายทุน รวมกันจะยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านไป ถ้าจะยกเลิกโครงการดังกล่าวได้นั้น ควรยกเลิกที่ท้องถิ่นคือเทศบาลฯ แต่ถ้ายังไม่มีการแก้ไข คาดว่าจะยกระดับ ตอนนี้ได้ไปทุกที่แล้ว ระหว่างรัฐกับนายทุน ไล่บี้ชาวบ้านไม่มีที่ทำกินไปแล้ว ก็จะแถลงคือทางออกสุดท้าย ต้องยกระดับไปต่อ ชาวบ้านไม่ยอมอยู่แล้ว แนวทางคือต้องส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจก่อน ถ้ายังไม่แก้ไขก็ต้องเข้า กทม.

ด้าน นางสมัย พันธโคตร อายุ 51 ปี ชาวบ้าน / กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ทำกิน จากโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า วันนี้ได้ทำบุญน้ำซับปีที่ 3 โดยทางชาวบ้านได้ต่อสู้โครงการดหมืองหิน ตั้งแต่ปี 59 ต่อมาได้รวมกลุ่มกันตั้งกลุ่มน้ำซับคำป่าหลาย และได้รวมกลุ่มทวงคืนผืนป่า ได้ต่อสู้มาตั้งแต่ปี 60 จนถึงปัจจุบัน ก็ได้เข้าพื้นที่ทำกิน ได้ปลูกมันสำปะหลัง พอมันกำลังโต ทางการก็ได้นำหลักหมุดมาปักในที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นโครงการกังหันลม ชาวบ้านก็ไม่ยอม กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับก็ได้ต่อสู้ เพราะชาวบ้านอยากอยู่แบบธรรมชาติ พอถึงฤดูการเห็ดเกิดก็จะได้เก็บกิน อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดโคลน เห็ดใคร เห็ดระโงก ดอกกระเจียว แมงทับ แมงคาม แมงแคง ชาวบ้านไม่ยอมให้กังหันลมเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ จะไม่ยอมให้โครงการกังหันลมเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อคืนที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรม มีกลุ่มนายทุนเข้ามา ชาวบ้านก็ได้ยกป้ายคัดค้าน แสดงสัญลักษณ์ว่า กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย คือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันจากการ “คัดค้านโครงการเหมืองแร่หินทรายเพื่ออุตสาหกรรม” ที่ตั้งทับพื้นที่ทำกิน และทับแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมในพื้นที่ ซึ่งขัดกับ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ หลังจากนั้นเพียงไม่นานชาวบ้านก็ถูกทวงคืนผืนป่า มีการตัดฟันต้นยาง และไถต้นมันสำปะหลังที่ชาวบ้านปลูก และแจ้งความดำเนินคดี ในพื้นที่ที่มีการขอประทานบัตร แสดงเจตนาชัดว่า “ ทวงคืนผืนป่าเพื่อเอาไปทำเหมือง ” ชาวบ้านในพื้นที่ต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้มีเหมืองแร่ พร้อมๆกับเรียกร้องขอคืนที่ดินทำกิน ตั้งแต่ 2560 จนถึงปัจจุบัน ปี 2565 ชาวบ้านจึงได้กลับเข้าที่ทำกินอีกครั้งหลังการต่อสู้เรียกร้องร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) การกลับสู่ที่ดินทำกินดำเนินไปยังไม่ถึงสองเดือน พี่น้องก็ต้องทุกข์ใจอีกครั้งเมื่อพบหลักแดง เข้ามาปักในพื้นที่ ที่ทราบภายหลังว่าเป็น “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม” ที่เข้ามาทับที่ทำกินอีกครั้งเป็นโครงการที่ 3 และเดินหน้าโครงการโดยไม่รับฟังเสียงความทุกข์ร้อนของพี่น้องในพื้นที่แต่อย่างใด

การต่อสู้ที่ต่อเนื่องและยาวนาน การถูกกดขี่จากโครงการพัฒนาที่ไม่จบสิ้น ทำให้พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายต้องลุกขึ้นต่อสู้ จึงได้มีการจัดงานบุญน้ำซับคำป่าหลายขึ้น เพื่อเป็นการระดมทุนในการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน ปกป้องป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม