ข่าวอัพเดทรายวัน

สมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย ระดมความคิด ยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการสร้างกลไกการเงินใหม่ที่เอื้อต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขอนแก่น

ที่ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล หัวหน้านักวิจัย นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมความก้าวหน้า กลไกการเงินกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โดยโครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่ เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ ที่มาและความสำคัญของโครงการ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 บ่งชี้ให้คนทั้งโลกเกิดความตื่นตัว ถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัย หน่วยงานต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงมิติสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูระบบนิเวศ

นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย กล่าวว่า ในเรื่องของกลไกทางการเงินที่จะช่วยเกษตรกร พบว่า เรื่องของเงินเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการทำธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งเกษตรกรถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ จึงควรจะได้รับการดูแล ซึ่งในการวิจัยชิ้นนี้จะเป็นการตอบโจทย์ที่จะต้องคิดแบบกลับหัวคิด คือการใช้โจทย์และ pain point หรือจุดอ่อนเป็นตัวตั้งในการที่จะช่วยแก้ปัญหา

“การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามแนวคิด เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งทำให้เกิดการสร้างงาน เน้นการเปิดตลาดใหม่เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์สีเขียว บริการ สีเขียว และจ้างงานสีเขียว เช่น การเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การขนส่งสีเขียว เป็นต้น และเศรษฐกิจสีเขียวทำให้เกิดการดึงดูดผู้ประกอบการ และแรงงานที่มีฝีมือเข้ามาประกอบกิจกรรม ทางเศรษฐกิจในเมือง มีการเพิ่มอุปสงค์และอุปทานในการผลิตสินค้าและการบริโภค รวมถึง การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง”

นางสิริพร กล่าวอีกว่า ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ร่วมมือที่จะส่งทีมมาช่วยผู้ประกอบการในการที่จะยกร่างโครงการให้มีความเป็นไปได้ ตอบโจทย์ของทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ประกอบการและธนาคาร ในกรอบเวลาที่เรามีอยู่หรืออีก 6 เดือน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้มีอายุ 1 ปี เริ่มทำตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2565 จนถึง เดือนมิถุนายน 2566 เพราะฉะนั้นเรามีเรื่องของระบบเวลากำกับไว้ เราอยากนำผลงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริง เป็นการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพและก็ได้ผลจริง เป็นการปันความสุข การแชร์ประสบการณ์และให้ความรู้ไปพร้อมกัน โดยในโครงการนี้ เราจะเห็นหน้าตาของ “ขอนแก่นโมเดล” ว่าจะสามารถทำงานชิ้นนี้ได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด

ด้าน รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า การประชุมเพื่อระดมความคิด ในด้านของกลไกการเงินที่จะเอื้อต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างความรับรู้เงื่อนไขและระบบต่างๆ ทั้งแผนการลงทุน แผนการตลาด รวมถึงการค้ำประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีแนวคิดมีประสบการณ์ เช่น กรณีศึกษาและแนวทางการพัฒนา ที่ทางโครงการได้ขับเคลื่อนให้เกิดกลไกระบบการเงินใหม่ที่จะต้องให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ยุ่งยากและร่วมกันทำโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยเริ่มที่จังหวัดขอนแก่นก่อน จากนั้น โมเดลนี้จะถูกนำไปปรับใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ,นครศรีธรรมราช,และจังหวัดชลบุรี และจะสรุปผลงานทั้งหมดให้เป็นระบบกลไกการเงินใหม่ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เข้าถึงสถาบันการเงินได้ ซึ่งสถาบันการเงินมีทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร โดยการที่จะขับเคลื่อนได้ดีนั้นเกษตรกรจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร การทำแผนธุรกิจ การสร้างการตลาด รวมทั้งกิจการที่มีคุณภาพที่จะนำไปสู่ตลาดที่รองรับได้ชัดเจน ไปสู่ผู้ซื้อที่ชัดเจน