ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหนอนกระทู้หอมในหอมแดงเข้าทำลาย เกษตรกรควรตรวจแปลงสม่ำเสมอ

วันที่ 8 ธ.ค.65 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมในช่วงนี้เริ่มมีสภาพอากาศที่เย็นขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาว เกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอเริ่มมีการปลูกพืชฤดูแล้งหรือพืชหลังนา และพืชที่นิยมและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรคือ ต้นหอม เป็นประจำของทุกปีที่ในช่วงนี้จะมีการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม จึงแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้เฝ้าระวังหนอนกระทู้หอม ที่สามารถพบได้ในระยะพัฒนาหัวจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตหอมแดง ซึ่งจะมักพบตัวหนอนกระทู้หอมจะเจาะเข้าไปอาศัยและกัดกินเนื้อเยื่อใบหอม ทำให้ใบหอมแดงมีสีขาว จากนั้น หนอนกระทู้หอมจะกัดกินจากใบหอมลงไปถึงหัวหอมแดง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตหอมแดงได้ หนอนกระทู้หอม นับเป็นศัตรูพืชที่สำคัญที่เมื่อเข้าทำลายต้นหอมแล้ว จะส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เท่าที่ควร และมีผลผลิตที่ลดลง เมื่อเกษตรกรพบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอม เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรไถตากดินและเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อฆ่าดักแด้เป็นการลดแหล่งสะสมและขยายพันธุ์ วิธีกล ให้เกษตรกรเก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย จะช่วยลดการระบาดลงได้ ส่วนการใช้ชีววิธี ให้เกษตรกรใช้ในระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็กและพบการระบาดน้อย โดยให้ใช้สารจุลินทรีย์ เช่น เชื้อไวรัสหนอนกระทู้หอม (นิวคลีโอโพลิฮีโดรไวรัส) หรือในช่วงเวลาเย็นให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis subsp. aizawai หรือ Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki

สำหรับแนวทางการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้หอม เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจเก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนกระทู้หอมในแปลงมาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อช่วยลดการระบาด ส่วนในระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็กและพบการระบาดน้อย ให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรกรณีพบการระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด อาทิ สารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลเฟนไพแร็ด 16% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งหากเกษตรกรป้องกันและดำเนินการป้องกันอย่างถูกต้องจะช่วยให้สามารถลดการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

หากเกษตรกรผู้ปลูกผัก พบเห็นการเข้าทำลายของด้วงหมัดผัก หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม