ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง ด้วงหมัดผักเข้าทำลายพืชตระกูลกะหล่ำ แนะวิธีเกษตรกรเตรียมการป้องกัน

วันที่ 8 ธ.ค.65 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เกษตรกรชาวสวนผักควรระมัดระวังด้วงหมัดผักเข้าทำลายผลผลิต ซึ่งด้วงหมัดผักสามารถพบการระบาดอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งปลูกผักเก่าที่เป็นการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอและหากพบตัวแมลง หรือใบพืชผักถูกกัดกินเป็นรูพรุน ให้รีบดำเนินการป้องกัน หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง จากสภาพอากาศในช่วงนี้มีอากาศที่ร้อน สลับมีฝนตกในบางพื้นที่ทำให้การแพร่ระบาดของด้วงหมัดผัก เริ่มมีปริมาณมากขึ้นและมีการเข้าทำลายพืชผัก เกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ) ในระยะ ทุกระยะการเจริญ ต้องเตรียมรับมือกับด้วงหมัดผัก ซึ่งตัวอ่อนด้วงหมัดผักจะเข้ากัดกิน หรือชอนไชเข้าไปกินบริเวณโคนต้น หรือรากของผัก ทำให้พืชผักนั้นเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโต และถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจจะทำให้พืชผักตายได้ ส่วนตัวเต็มวัยจะชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน และอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักจะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดด และสามารถบินได้ไกลทำให้การแพร่กระจายและเข้าทำลายพืชผักได้และดีรวดเร็ว จึงควรเฝ้าระวังการระบาดอย่างใกล้ชิด โดยในประเทศไทยจะพบด้วงหมัดผักเข้าทำลายพืชผัก อยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล Phyllotreta flexuosa และ ชนิดปีกด่าหรือปีกสีน้ำเงินเข้ม Phyllotreta chontanica

ด้วงหมัดผัก จะชอบวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มบริเวณโคนต้นพืช เส้นกลางใบพืชและตามพื้นดินไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่ขนาด 0.13 x 0.27 มิลลิเมตร สีขาวอมเขียว ผิวเรียบเป็นมันและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนก่อนฟักเป็นตัว ระยะไข่ 3 – 4 วัน ตัวหนอนมีสีขาว ส่วนหัวและส่วนท้องปล้องแรกมีสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลตามล่าตัวและแผ่นสีน้ำตาลอยู่ทางด้านบนของปล้องสุดท้ายของล่าตัว หนอนอาศัยอยู่ในดิน ระยะหนอน 10 – 14 วัน และเข้าดักแด้ในดิน ส่วนปีกและขาของดักแด้แยกจากล่าตัวเป็นอิสระเคลื่อนไหวได้ ระยะดักแด้ 4 – 5 วัน ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็กความยาวประมาณ 2 – 2.5 มิลลิเมตร ปีกคู่หน้าสีด่ามีแถบเหลืองสองแถบพาดตามความยาวด้านล่างล่าตัวสีด่าขาคู่หลังขยายใหญ่และโตกว่าขาคู่อื่นๆ หนวดเป็นแบบเส้นด้าย อายุตัวเต็มวัย 30 – 60 วัน ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียแต่ละตัววางไข่ได้ 80 – 200 ฟอง ด้วงหมัดผักในประเทศไทยพบ ๒ ชนิด คือชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล และ ชนิดปีกด่าสีน้ำเงินเข้ม แต่มากกว่า 80% เป็นชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล ด้วงหมัดมีนิสัยที่สังเกตง่ายคือ เมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดโดยอาศัยขาหลัง สามารถดีดตัวไปได้ไกล ด้วงหมัดผักเป็นแมลงปีกแข็งชนิดเดียวที่เป็นศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้ากวางตุ้ง กะหล่ำดอก ผักกาดหัว ตัวอ่อนของด้วงหมัดผักชอบกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโตถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจทำให้ผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินด้านล่างของผิวใบทำให้ใบมีรูพรุน อาจกัดกินลำต้น และกลีบดอกด้วย

แนวทางในการการป้องกัน สามารถทำได้ดังนี้ การไถตากดินไว้เป็นเวลานาน เพื่อทำลายตัวอ่อน และดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบจะเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง ใช้เชื้อแบคทีเรีย (บีที) บาซิลลัส ทูริงเยนซิส เช่น โนโวดอร์เอฟซี โดยพ่นหรือราด ทุก 7 วันหรือราดลงดินก่อนปลูกหลังการให้น้ำ เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน การใช้สารฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล 85% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ยังคงใช้ได้ผลดีในแหล่งปลูกผักใหม่ๆ ที่มีการระบาดไม่รุนแรง ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ ควรใช้สารฆ่าแมลง เช่น โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด และควรพ่นสารสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์เพื่อชะลอการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง

หากเกษตรกรผู้ปลูกผัก พบเห็นการเข้าทำลายของด้วงหมัดผัก หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม