ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ลานวัฒนธรรมวัดศรีคุนเมือง อ.เชียงคาน จ.เลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานพิธีเปิดตลาดวัฒนธรรม “เชียงคานสองกาลเวลา” อำเภอเชียงคาน โดยมี นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย นายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน นายกมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จากที่เชียงคานได้เปิดตัวโดยดึงเอาทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญา และทุนทางธรรมชาติสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ก็เชื่อมโยงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านสถาปัตยกรรมของบ้านไม้เรือนเก่า รวมถึงทุนทางวิถีเชียงคานที่รายล้อมอยู่ เช่น การใส่บาตรข้าวเหนียว ผาสาดลอยเคราะห์ มาร้อยเชื่อมเปิดตัวเมืองเชียงคานเมืองโบราณริมฝั่งโขง สู่การท่องเที่ยวที่ผู้คนรู้จักอย่างล้นหลาม ดังนั้นจึงไม่ใช่ผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นเราทุกคน ต้องบูรณาการร่วมมือกัน เอาความเป็นพี่น้องเชียงคานมาเป็นพลังที่จะผลักดันเชียงคานให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้พี่น้องประชาชน ได้รับประโยชน์มากที่สุด การพัฒนาเชียงคานในระยะต่อจากนี้ เป็นก้าวที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-๑๙ จังหวัดเลยพร้อมเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ฝากให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันคงไว้ ซึ่งเชียงคานเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ใน 100 ของโลก โดยในการจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ บนฐานของความต้องการของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอชื่นชมกับ รางวัลที่ 1 การสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2565 ที่ร่วมกับชุมชน จนได้รับรางวัลรางวัล จำนวน 2,300,000 บาท มาต่อยอดพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้เกิดคุณค่ากับท้องถิ่นเชียงคาน จึงนับเป็นแบบอย่างที่ดี มาเติมให้เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเชียงคานเข้มแข็ง ยั่งยืน ให้คนรุ่นหลังได้มีอาชีพที่มั่นคง และในขณะเดียวกันก็จะเสริมสร้าง ความพึงพอใจต่อผู้มาเยือน จะเป็นรูปธรรมเกิดผลเร็วขึ้น ก็ขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งอำเภอ ท้องถิ่น ท้องที่ และพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ผมขอเป็นกำลังให้ “เชียงคานสองกาลเวลา” เป็นพื้นที่แห่งการอนุรักษ์ทุนทางวัฒนธรรม มีวัด ชุมชน ราชการ ได้มาหนุนเสริมให้เกิดความยั่งยืน มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มาร่วมอนุรักษ์สืบสานความงดงามวัฒนธรรมเชียงคานเหล่านี้ เชื่อว่าจะอยู่คู่กับเชียงคาน ให้เป็นเชียงคาน เมืองที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิตอีกด้วย

นายกมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน กล่าวว่า เทศบาลตำบลเชียงคาน ได้รับรางวัลที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประเภททั่วไป (เทศบาลตำบล) โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชียงคานนิยม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เราได้นำเอาหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นแกนกลางการพัฒนา มุ่งให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยดึงเอาเอกลักษณ์หรือทุนที่รายล้อมเชียงคานอยู่หรือความหมายของเทศบาลตำบลเชียงคาน คือ ความเป็น “เชียงคานนิยม” ทั้งทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม ทุนทางธรรมชาติวิถีริมโขง มาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ โดยการพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีในระยะต่อมาในปี 2566 นี้ จึงมุ่งยกระดับนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชียงคานนิยม (หรือเชียงคานนิยม ภาค 2) บนความต้องการของพี่น้องประชาชน ที่ได้สะท้อนแนวคิด ผ่านเวทีสาธารณะ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ชาวบ้าน ผู้ประกอบการที่อยู่โซนวัดศรีคุนเมือง ถึงวัดโพนชัย อยากให้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว จึงมีชุมชนก่อการดี ได้รวมตัวกัน มีเทศบาลตำบลเชียงคานหนุนเสริม โดยทุนทางวัฒนธรรมเชียงคานที่มีอยู่มาเป็นแกนกลางพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้การมีส่วนร่วมของ “บ ว ร : บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ” โดยใช้พื้นที่ลานวัฒนธรรมวัดศรีคุนเมืองเป็นศูนย์กลาง เรื่อยไปตามถนนชายโขงถึงวัดโพนชัย ที่นักท่องเที่ยวยังไปไม่ถึง เพื่อการกระจายและสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชน มีรายได้เสริม จากการเติบโตของการท่องเที่ยวเชียงคาน ให้เป็นตลาดที่ปลอดโฟมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด อาหารพื้นบ้าน ขนมหวานพื้นถิ่น ถนนสร้อยสาที่เป็นภูมิปัญญาเชียงคาน การลอยผาสาด มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว การแสดงการละเล่น ทุกวันศุกร์ – เสาร์ของทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ เทศบาลเชียงคานได้การส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพ มีรายได้ อีกทั้งสืบสาน รักษา และต่อยอดตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชการที่ 10 มาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นเชียงคานในระยะที่ 2 นี้ โดยการทำเชียงคาน สองกาลเวลา ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่ใกล้ชิดประชาชน เพื่อสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ยกระดับนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเชียงคานนิยมอีกด้วย