ข่าวอัพเดทรายวัน

จ.นครพนม-มูลนิธิกาญจนบารมี จัดกิจกรรมคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่

วันที่ 20 ธ.ค.65 ที่ โรงเรียนบ้านแพงพิทยาคม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนม มีนายชัชวาลย์ ทองชน นายอำเภอบ้านแพง เป็นประธานเปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ ๗๐ พรรษา” โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี จัดกิจกรรม “โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ ๗๐ พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม มอบหมาย ดร.มารดี ศิริพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม (ด้านส่งเสริมพัฒนา) ร่วมพิธีเปิดฯ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2565

การจัดกิจกรรมโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มได้ ลดความรุนแรงและอัตราตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้นำสตรีในจังหวัดนครพนม ได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ร่วมด้วยช่วยกันเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเองแก่สตรีทุกคนให้ได้เข้าใจอย่างทั่วถึง

จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและตายอันดับ 1 ของสตรีไทย ข้อมูลเมื่อปี 2553 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รายใหม่ 13,184 ราย เสียชีวิตประมาณ 4,665 ราย หรือทุก 2 ชั่วโมง จะพบว่าสตรีไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม 1 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ช้า ซึ่งมักจะมีการลุกลามและแพร่กระจายไปแล้ว ร้อยละ 56 สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด (Early Detection) ซึ่งการตรวจมี 3 วิธี คือ 1) การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2) การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ 3) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) แม้การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการตรวจเต้านมได้ด้วยตนเองนั้นจะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่ลุกลามหรือแพร่กระจาย จะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านม และสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 82 – 90 กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดตัวชี้วัดให้ร้อยละของสตรีอายุ 30 – 70 ปี มีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว