ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรเปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงทศกาลปีใหม่ 2566

จังหวัดยโสธรเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 คุมเข้ม 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึง 4 มกราคม 2566 พร้อม Kick Off รณรงค์ร่วมใจ สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เดินหน้าป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนภายใต้การรณรงค์ “ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 08.30 น. นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 พร้อมการรณรงค์ Kick Off “จังหวัดยโสธรร่วมใจ สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” และวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมี นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ตำรวจ ทหาร หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายเมาแล้วขับ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ร่วมงาน ณ บริเวณหน้าวิทยาลัยเทคนิคยโสธร

โดยจังหวัดยโสธร กำหนดแผนบูรณาการในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 คุมเข้ม 7 วันอันตราย ในระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 ภายใต้การรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” มีเป้าหมายให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 โดยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เน้นย้ำ เมาไม่ขับ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับรถเร็วเกิดกว่ากฎหมายกำหนด การสวมหมวกนิรภัย และการทำประกันภัย พรบ. อีกทั้งกำหนดตั้งจุดตรวจร่วมอำเภอช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 พื้นที่ 9 อำเภอ จำนวน 17 จุด และจุดตรวจระดับตำบล 111 จุด นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วมแบบบูรณาการ การตั้งด่านชุมชน/หมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมรณรงค์ Kick Off การรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “จังหวัดยโสธร ร่วมใจสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” พร้อมกับปล่อยขบวนรณรงค์ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ให้กับประชาชนในครั้งนี้ด้วย และวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 กำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งในประเทศและนานาชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะได้รณรงค์เสริมสร้างความตระหนัก และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงความสูญเสียจากภัยพิบัติ เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยแก่ประชาชน