ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรจังหวัดนครพนม สร้างจิตสำนึกลดการเผา

เกษตรจังหวัดนครพนม สร้างจิตสำนึกลดการเผา เกษตรอำเภอวังยาง เปิดเวทีถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็นวิทยากรในการทำเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร

วันที่ 18 ม.ค.66 ที่ศาลาประชาคมบ้านโคกสี หมู่ที่ 1 ตำบลโคกสี อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าอุเทน เปิดเวทีถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็นวิทยากรในการทำเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรปลอดการเผา และเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม

นายชำนาญ โพธิ์สุข เกษตรอำเภอวังยาง เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร ได้อย่างเข้าใจและสามารถต่อยอดและให้คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การสาธิตจการไถกลบตอซังข้าว และการหว่านปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) โดยมุ่งเน้นลดการเผาในพื้นที่เกษตรและที่โล่งแจ้งป้องกันปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยยึดการใช้พื้นที่และองค์ความรู้จาก ศพก. เป็นจุดต้นแบบในการเรียนรู้การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรและใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่

สำหรับการไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ได้ 5 ดี หากเราไม่เผาในพื้นที่การเกษตร จะทำให้เราได้ประโยชน์ 5 ดี ได้แก่ ดีที่ 1 อากาศที่ดี ปราศจากมลพิษทางอาหารจากฝุ่น ควัน ดีที่ 2 สุขภาพที่ดี ไม่ประสบปัญหาระบบหายใจที่สูดควันพิษ ดีที่ 3 ดินดี โครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดินจะดี ดีที่ 4 สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีสิ่งรบกวนและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ และดีที่ 4 รายได้ดี ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่าการไม่เผาในพื้นที่การเกษตรมีประโยชน์อย่างไร เราจึงควรช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจากกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจและเกิดความรู้กับเกษตรเพื่อสามารถนำไปถ่ายทอดกับเกษตรในพื้นที่ เพื่อปรับตัวในการทำการเกษตรที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีในการสร้างรายได้และเพิ่มผลผลิตของสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน