ข่าวอัพเดทรายวัน

จังหวัดนครพนม บูรณาการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สู่มาตรฐานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

วันที่ 19 มกราคม 2566 ที่สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยนครพนม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม มีการสร้างและนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้า รวมถึงสามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านการพัฒนาแล้วสู่ตลาดและกลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้บริโภคได้ตรงจุดตามความต้องการ ทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการค้นหาผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดเข้าประกวดในระดับประเทศต่อไป

นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อน OTOP ในพื้นที่นั้นรัฐบาลมีความมุ่งหมายที่จะให้ทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนและชุมชน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ดังนั้นจังหวัดนครพนมจึงได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน OTOP จังหวัดนครพนมสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ในรูปแบบของเครือข่ายองค์ความรู้ Knowledge – Based OTOP : KBO เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยในระหว่างวันที่ 19 – 20 มกราคม 2566 ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยนครพนมในเรื่องการพัฒนาต่อยอด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สาธารณสุขจังหวัดนครพนมเกี่ยวกับการดำเนินการให้ได้มาตรฐาน อย. อุตสาหกรรมจังหวัดนครพนมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม เกี่ยวกับการผลิตที่ได้มาตรฐานมาตรฐานอินทรีย์และอาหารปลอดภัย พานิชย์จังหวัดนครพนมเกี่ยวกับช่องทางการตลาด การจับคู่ธุรกิจ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนมเกี่ยวกับเทคนิคการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโซเชียล และตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จที่มาเล่าประสบการณ์ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนนำไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน จากนั้นจึงให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการได้นำเสนอผลงานของตนเอง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ หาข้อดี ข้อเด่นและข้อด้อยของผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนายกระดับสินค้าให้สูงมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของแต่ละผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะร่วมกันพิจารณาเลือกสินค้าเพียง 1 ชิ้น เพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดนครพนมเข้าแข่งขันในระดับประเทศต่อไป