ข่าวอัพเดทรายวัน

ชาววังยาง จ.นครพนม รวมใจจัดงานบุญเดือนสามสืบสานประเพณีกองบุญข้าว สร้างสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม

วันที่ 23 มกราคม 2566 ที่อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญเดือนสาม ที่ชาววังยางร่วมกันจัดขึ้น เพื่อสืบสานปวิถีชีวิตประเพณีอันดีงามของชาววังยางที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในห้วงวันขึ้น 1 ค่ำ – ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ที่จะจัดพิธีกองบุญข้าวและการสู่ขวัญข้าว เพื่อขอขมาและขอบคุณแม่โพสพ เทพีแห่งข้าว ที่ชาววังยางเชื่อว่าจะทำให้การทำนาได้ผลผลิตข้าวอุดมสมบูรณ์ตลอดไป โดยทุกคนในหมู่บ้านจะแบ่งปันข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนาส่วนหนึ่งมาร่วมทำพิธีสู่ขวัญข้าว ก่อนจะนำข้าวเปลือกที่เหลือในการทำนาขึ้นเก็บในยุ้งฉาง หรือนำไปสีเป็นข้าวสารเพื่อหุงรับประทาน หรือนำไปซื้อขาย

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า อำเภอวังยางเป็นอำเภอขนาดเล็กมีพื้นที่ทั้งหมด 4 ตำบล และจากข้อมูลพื้นฐานพบว่าเป็นอำเภอที่ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 50,000 กว่าบาท ซึ่งถือว่าน้อมมาก แต่ทุกคนก็อยู่กันด้วยความสุข โดยงานบุญเดือนสามของชาววังยางเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่ก่อให้ทุกคนมีความรักความสามัคคี บนพื้นฐานของการทำดี การรู้จักบุญคุณของทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิต และการรู้จักตอบแทนและแบ่งปันเพื่อสังคม เพราะข้าวเปลือกที่นำมากองรวมกันเพื่อทำพิธีในครั้งนี้ จะยกให้เป็นของส่วนรวมทั้งหมดเพื่อนำไปขายเป็นทุนในการจัดงานปีต่อไป รวมถึงเป็นต้นทุนในการทำบุญสร้างห้องน้ำสาธารณะให้กับอำเภอวังยาง การจัดหาสุขภัณฑ์(โถส้วม)สำหรับผู้สูงอายุ และนำไปทำการกุศลอื่นๆ ซึ่งเมื่อทางเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนมได้ทราบข่าวถึงกิจกรรมดี ๆ ในครั้งนี้ก็ได้นำผ้าห่มกันหนาวส่วนหนึ่งมาสนับสนุนเพื่อให้ชาววังยางที่ขาดแคลนและกำลังเหน็บหนาวจากสภาพอากาศได้ใช้คลายหนาวด้วย

ซึ่งภายในงานนอกจากพิธีกองบุญข้าวและการสู่ขวัญข้าวแล้ว ยังมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษของคนในชุมชนกับการบวงสรวงเจ้าปู่วิรูปักษ์ และศาลปู่หมื่นปู่แสน รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ให้ทุกคนได้สนุกไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมการแสดงหมอลำ การแข่งขันชกมวยไทย การแสดงรำวงชาวบ้าน การจัดงานคาวบอยไนท์ การประกวดธิดาบุญเดือนสาม และที่หลายคนไม่ควรพลาดนั่นคือ การจัดซุ้มวิถีชีวิตที่เป็นการจำลองบ้านของชาววังยางในสมัยโบราณมาให้ทุกคนได้เห็นถึง 4 แบบที่ล้วนมีความสวยงามแตกต่างกันออกไปตามความคิดและจินตนาการของคนในสมัยนั้น ที่มีการนำเอาวัสดุในพื้นที่มาสร้างเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นถิ่น สินค้าดี สินค้าเด่น ของแต่ละชุมชน เช่น ผ้าทอมือไม้มงคล เนื้อโคขุนแช่แข็งพร้อมส่ง มันฝรั่งแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว โกโก้แปรรูปเป็นชอคโกแล็ต เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มาร่วมงานที่มีทั้งคนในพื้นที่ คนต่างอำเภอและต่างจังหวัด ให้ได้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะก่อเกิดการจับจ่ายซื้อหานำมาซึ่งรายได้ของทุกคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น