ข่าวอัพเดทรายวัน

เสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย MS. รัศมี ศิระวงศ์ Dr. โรเบิร์ต มาสเตอร์ นายทวี หนูทอง หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน ผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 70 คน

นายศุภมิตร จารุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกแห่งอาเซียน ได้แจ้งกำหนดการประเมินอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในระหว่างวันที่ 27 – 30 มกราคม 2566 ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอพื้นที่คุ้มครองดังกล่าว และเพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้รับทราบถึงความสำคัญในการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน คณะผู้เชี่ยวชาญ จะลงประเมินพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อตรวจดูสภาพข้อเท็จจริง ตามเกณฑ์การนำเสนอพื้นที่ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะพิเศษทางธรณีสัณฐานที่สำคัญ ทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น คือ มีลักษณะของภูเขาหินทรายยอดตัด (mesa) ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนของทางน้ำผ่านเนื้อหินภูเขาที่มีความคงทนต่างกัน กลายเป็นลักษณะของภูเขายอดราบ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเดินขึ้นภูกระดึง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร เพื่อศึกษาระบบนิเวศ ด้านต่างๆ เช่น ระบบนิเวศระหว่างทาง ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวหน้าผา (จากผาหมากดูกถึงผาหล่มสัก) ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวน้ำตก (จากน้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ จนถึงน้ำตกธารสวรรค์) ระบบนิเวศป่าปิด

นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 กล่าวว่า สัตว์ป่า พืชป่า รวมถึงไม้ป่า เป็นองค์ประกอบพื้นฐานและองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศ เป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ชนิดพันธุ์ และป่าไม้จำนวนมากกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่รุนแรงและจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการใช้ประโยชน์มากเกินไปและความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในเรื่องของการลดลงของจำนวนประชากรและป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตระหนักดีว่า พื้นที่อนุรักษ์และทรัพยากร ธรรมชาติที่อยู่ภายใต้การดูแลรักษา เป็นสมบัติของประชาชนในประเทศ กรมฯ จึงทุ่มเทสรรพกำลัง และทรัพยากร ในการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากร และดูแลคุ้มครองพื้นที่ เพื่อให้เป็นมรดกแก่สาธารณชนรุ่นต่อ ๆ ไป ดังนั้น การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทย มีพื้นที่ทางธรรมชาติที่ได้รับการประกาศพื้นที่เป็นมรดกอาเซียน จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย 1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา 3. กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน-อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 4. กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี 5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง 6.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัด สุราษฎร์ธานี และ7. อุทยานแห่งชาติเขาสก

นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะภูมิประเทศ มีความโดดเด่น เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นลักษณะของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวแทนและเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นหินทรายยอดราบหรือเขาโต๊ะเรียกว่า “เมซา” อีกทั้งยังประกอบไปด้วย พรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก และยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพองซึ่งเป็นลำน้ำ สายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาที่หวังจะเป็นผู้พิชิตยอด ภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ดังนั้น การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอันมีคุณค่า ที่ไม่ปรากฏในพื้นที่อื่น ๆ และด้านการจัดการพื้นที่ที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้ง จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เป็นที่ประจักษ์ แก่เพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และเป็นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย นอกจากจะเกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อมของประเทศแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครอง ของภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย การประชุมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้หารือกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งแนวทางในการจัดการ การอนุรักษ์ รวมทั้ง ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และมิตรภาพ อันจะเป็นกำลังสำคัญ ในการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองและทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง ให้เป็นมรดกของประเทศไทย และของอาเซียนในโอกาสต่อไป