ข่าวอัพเดทรายวัน

สุรินทร์ หนึ่งในคำขวัญจังหวัดเกษตรกรปลูกหัวผักกาดเพื่อแปรรูปส่งขายรายได้งาม

สุรินทร์ หนึ่งในคำขวัญจังหวัดเกษตรกรปลูกหัวผักกาดเพื่อแปรรูปส่งขายรายได้งาม ของดีของฝากหนึ่งในคำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรปลูกหัวผักกาดขาวเพื่อแปรรูปส่งขายรายได้งามหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

วันที่ 29 มกราคม 2566 ที่บ้านประดู่ หมู่ 1 ต.แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เกษตรกรกำลังรวมกลุ่มกันเก็บเกี่ยวหัวไชเท้า หรือ หัวผักกาดขาวจากผืนนา ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีตามฤดูกาล หรือว่างเว้นจากการทำนาในช่วงปลายฝนต้นหนาว เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาปลูกหัวไชเท้า เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า ถือเป็นการสร้างรายได้หลักอีกทางหนึ่งเป็นอย่างดีได้ ไถแปลงนาและหว่านเมล็ดหัวผักกาดขาว ที่เป็นพืชระยะสั้น และได้เก็บผลผลิตได้ช่วงเดือนมกราคม ที่ถือว่าในช่วงสภาวะอากาศเหมาะสมแล้วสำหรับการเพาะปลูกหัวผักกาดขาว เนื่องจากผลผลิตของหัวไชเท้าที่ได้ในแต่ละปีถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างมาก

สำหรับที่บ้านประดู่นี้ เกษตรกรเก็บผลหัวไชเท้า หรือ หัวผักกาดขาว เพื่อนำไปแปรรูปเป็นหัวผักกาดเค็ม ซึ่งถือเป็นการถนอมอาหารที่ได้รับความนิยม โดยเกษตรกรจะนำหัวผักกาดที่ตัดใบแล้ว นำไปใส่ไว้ในหลุมที่ปูด้วยพาสติก และโรยด้วยเกลือทะเลในปริมาณที่เหมาะ และจะทำสลับกันเป็นชั้นๆ เพื่อให้เกลือหมักและปนอยู่ในตัวหัวผักกาดขาวอย่าทั่วถึง เกลือจะทำปฏิกิริยากับตัวหัวผักกาดทำให้เกลือดูดน้ำและความชื้นออกจากตัวหัวผักกาด ที่หมักไว้ในหลุม ซึ่งหัวผักกาดอวบๆขาวๆจะเริ่มรัดตัวเปลี่ยนสีและแห้งลง น้ำจากหัวผักกาดจะออกมายังก้นหลุม เกษตรกรก็จะเปิดเพื่อนำหัวผักกาดออกมาผึ่งลมผึ่งแดด จากนั้นก็จะนำผักกาดลงหมักในหลุมกับเกลือเช่นนี้อีก 5 – 6 รอบ จนกว่าหัวผักกาดจะฟีบเล็กและรัดตัวเนื่องจากเกลือดูดน้ำออกจากหัวและเกิดเป็นหัวผักกาดขาวความเค็มได้ที่ ส่วนน้ำที่ขังอยู่ภายในก้นหลุมก็มีความเค็มสูง สามารถนำน้ำนี้ไปรดโคนต้นไม้อย่างมะพร้าวได้ เพื่อบำรุงให้ลูกมะพร้าว เนื่องจากดินส่วนใหญ่แถบอีสานจะมีความเปรี้ยว การนำน้ำเกลือหมักนี้ไปรดต้นไม้ก็จะช่วยปรับให้ดินเกิดความเค็ม ผลผลิตมะพร้าวก็จะเกิดความหวานมันได้ดี

นางไทรงาม แก้วลอย และนางณัฏฐิณี แท่นดี เกษตรกรผู้ปลูกหัวผักกาด บอกว่า ครอบครัวได้เริ่มปลูกหัวผักกาดขาวมากว่า 30 ปีแล้ว เป็นอาชีพที่เพาะปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว นาที่ปลูกข้าวหลังเก็บเกี่ยวก็จะถูกไถกลบเตรียมดิน จากนั้นก็จะหว่านเมล็ดผักกาดเพาะปลูกต่อเลย สภาพอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ผลผลิตของหัวไชเท้า ทำให้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกจึงเป็นช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่เนื่องจากหัวไชเท้านั้นสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และแม้ว่าปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่อาจจะไม่เท่ากับการปลูกในช่วงเดือนที่มีสภาพอากาศเหมาะสม คือไม่ชื้นจนเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดเน่า และการเติบโตไม่เต็มที่ ถึงแม้จะโดนฝนตกมาบ้างช่วงผลผักกาดกำลังเจริญ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ แต่ก็ถือว่ายังคงให้ผลผลิตดีพอสมควร สำหรับการเก็บผลผลิตเพื่อส่งขายนั้น จะเริ่มเก็บหลังจากที่นำเมล็ดลงปลูกได้ประมาณ 45 วัน การดูแลไม่ยากซับซ้อน เมื่อเก็บผลผลิตมาแปรรูปจำหน่ายแล้วได้ 30,000 – 40,000 บาท ก็ถือว่าดีสำหรับหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ซึ่งได้หน่วยงานรัฐมาสนับสนุนแจกเมล็ดให้มาเพาะปลูก

นายธนกฤต เจียรวัฒนากร เจ้าของโรงงานหัวผัดกาดหวานตรา “สามผึ้ง” ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูกหัวผักกาด บอกว่า ตนมีความคิดที่อยากลงมาร่วมกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและแปรรูปหัวผักกาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เกลือ เพราะเกษตรกรปลูกแล้วได้รายได้ดีหลังว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีการปลูกมานานแล้วก่อนงานการแสดงของช้างครั้งแรก (61 ปี) ซะอีก และได้เอาไปจำหน่ายภายในงานแสดงของช้างสุรินทร์ และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก มีชื่อเสียงจนได้เป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ ที่ว่า “ สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”

จากนั้นนายนายธนกฤต ได้พาไปเยี่ยมชมโรงงานหัวผัดกาดหวานตรา “สามผึ้ง” ที่ได้รับการสืบทอดการทำผักกาดหวานจากบรรพบุรุษคือ บิดา และมารดา คือ นายเซียะง้วน แซ่เจ็ง ซึ่งอพยพมาจากเมืองจีนและเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และนำหัวผักกาดที่นำติดตัวจากเมืองจีนมาไปปลูกในที่ดินของตัวเอง แรก ๆ ก็ใช้ปรุงเฉพาะที่เป็นอาหารจีน เมื่อคนไทยรู้จักหัวผักกาดชนิดนี้ดีขึ้น จึงดัดแปลงไปทำอาหารไทยบ้าง เช่น เอาไปแกงส้ม เป็นต้น ส่วนที่เอาไปปรุงรสเป็นหัวผักกาดเค็มนั้น ต่อมาได้มีคนจีนอีกเหมือนกันที่นำไปแปรรูปเป็นหัวผักกาดหวานอีกรสหนึ่ง แรกทีเดียวนายเซียะง้วน แซ่เจ็ง และนางเอียงใช้ แซ่โค้ว ได้นำหัวผักกาดไปทำอาหารสด เมื่อเหลือกินจึงแปรรูปเป็นหัวผักกาดเค็ม และต่อมาจึงลองดัดแปลงเป็นหัวผักกาดหวานครั้งแรก และนำผักกาดเค็มและหวานใช้บริโภคในครอบครัว เมื่อเหลือจากบริโภคจึงนำออกแจกจ่ายเพื่อนบ้าน และบางส่วนนำออกจำหน่าย ก็ได้รับความนิยม ช่วยให้นายเซียะง้วนใช้เวลาในการทำนาและออกไปหาของป่าน้อยลง หัวผักกาดอีกส่วนหนึ่งได้แจกจ่ายให้เกษตรกรที่สนใจนำไปปลูกต่อจนมีการขยายพันธุ์หัวผักกาดขึ้นในพื้นที่ อ.กาบเชิง ไม่น้อย

นอกจากจะนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนูแล้ว หัวไชเท้ายังถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา อย่างที่นายนายธนกฤต เจ้าของโรงงานฯ นำมาโชว์สีดำๆเข้มๆนี้ ไม่มีไว้จำหน่าย คือ หัวผักกาดที่ผ่านกรรมวิธีพิเศษ นำไปดองกับโสม ถั่งเช่า น้ำผึ้ง เป็นเวลากว่า 20 ปี ถือว่าเป็นยาโด๊บตำรับแบบที่สมัยจักรพรรดิ “เจงกิสข่าน” ทำไว้เวลาเดินทางหรือออกรบ ถือว่าเป็นยาบำรุงมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีส่วนช่วยในการล้างพิษ เนื่องจากเป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ จึงสามารถขับพาไขมันออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง แก้อาการท้องผูก ท้องร่วง มีส่วนช่วยในการละลายเสมหะ กระตุ้นน้ำย่อยและขยายหลอดเลือด ทั้งยังสามารถใช้เพื่อรักษาฝ้าและลดเลือนริ้วรอยได้อีกด้วย

หัวไชโป้วหรือ หัวไชเท้าดอง เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมรับประทานกันมา ทั้งยังสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานทั้งปี หัวไชเท้าดองมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ หัวไชโป้วดองเค็ม และ หัวไชโป้วหวาน อาหารที่นิยมใช้หัวไชโป้วมาเป็นส่วนประกอบได้แก่ หัวไชโป้วดองเค็มผัดกับไข่ ไข่เจียวไชโป๊ว และในหน้าร้อนคนไทยนิยมรับประทานข้าวแช่ ซึ่งก็มีหัวไชโป้วผัดหวานเป็นเครื่องเคียงด้วยเช่นกัน เจ้าตำหรับหัวผักกาดหวานต้องตราสามผึ้งเท่านั้นที่เป็นสินค้าโอทอป หนึ่งในคำขวัญของจังหวัดสุรินทร์