ข่าวอัพเดทรายวัน

ขับเคลื่อนการทำไร่อ้อยสมัยใหม่รองรับเครื่องจักรกลเกษตร (road map 3 ปี) ยกระดับผลผลิตอ้อยจังหวัดเลย

ที่แปลงต้นแบบของนายชำนาญ คำมา หมู่ที่ 12 ตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย เกษตรกรการทำไร่อ้อย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนการทำไร่อ้อยสมัยใหม่รองรับเครื่องจักรกลเกษตร (road map 3 ปี) ยกระดับผลผลิตอ้อยจังหวัดเลย และแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืน มีนายกิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดเลย นายกฤติชฎา บุญล้อมรัตน์ นายอำเภอหนองหิน นายอดุลย์ ครองเคหัง ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง นายสิทธิบูรณ์ รัชตะสุวิโรจน์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูงจังหวัดเลย นายคำสี แสนศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวไร่อ้อย เข้าร่วมกิจกรรม

นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศมากกว่า 11.5 ล้านไร่ สร้างอาชีพและการจ้างงานได้มากกว่า 2 ล้านครัวเรือน บุคคลที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ก็คือเกษตรกรชาวไร่อ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง ที่มีความตั้งใจสนับสนุนและส่งเสริมให้พี่น้องชาวไร่ มีรายได้จากการทำไร่อ้อยสูงขึ้น ด้วยการรณรงค์ให้พี่น้องชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนส่งโรงงาน พี่น้องชาวไร่อ้อยไม่ควรเผาอ้อย เนื่องจากอ้อยไฟไหม้จะมีผลต่อคุณภาพของอ้อยโดยตรง ทั้งเรื่องน้ำหนักและความหวานลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยลดลงไปด้วย อีกทั้งยังถูกกีดกันจากประเทศทั่วโลกที่กำลังรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนในขณะนี้

นายอดุลย์ ครองเคหัง ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง กล่าวว่า ในปีนี้โรงงานฯ เริ่มหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.2 ล้านตัน คิดเป็นอ้อยสด 80% สูงเป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวและมิตรภูเวียง จังหวัดเลย มีพื้นที่ปลูกอ้อย ทั้งหมด 450,000 ไร่ พื้นที่ปลูกอ้อย 4 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอวังสะพุง จำนวน 135,000 ไร่ อันดับ 2 อำเภอผาขาว จำนวน 90,000 ไร่ อันดับ 3 อำเภอเอราวัณ จำนวน 75,000 ไร่ และอันดับ 4 อำเภอหนองหิน จำนวน 50,000 ไร่ เป็นชาวไร่คู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง 9,000 ราย แรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรมากกว่า 20,000 ครัวเรือน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และชุมชนเกิดความมั่นคงในอาชีพและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้านอ้อยมิตรภูหลวง มีการพัฒนาเพิ่มองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ผ่าน Mitr phol Modern Farm Acadeny เรียนรู้การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ทั้งภาคทฤษฎี ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง ทำแปลงต้นแบบร่วมกับพี่น้องชาวไร่ มุ่งเน้นการจัดการไร่อ้อยที่ยั่งยืน ด้วย 4 เสาหลักพลัส เป็นการทำไร่อ้อยยุคใหม่ คือ นำเครื่องจักรกลเกษตรมาใช้ทำไร่อ้อย ในทุกขั้นตอนทดแทนแรงงานคน ตั้งแต่การเตรียมดิน / ปลูก / บำรุงรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยสด ด้วยรถตัดเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเวลา เพิ่มปริมาณอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ ช่วยแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมระบบชลประทานในพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อให้พี่น้องชาวไร่ ได้มีแหล่งน้ำในการทำไร่อ้อย และลดความเสี่ยงเนื่องจากฝนแล้ง พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแบบ Fully Irigation ส่งเสริมการให้น้ำ ตามความต้องการน้ำของอ้อยอย่างแท้จริง ด้วยระบบน้ำหยด ควบคู่กับการให้ปุ๋ยเกล็ดผ่านระบบน้ำหยด ลดเวลา ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Bonsucro เป็นมาตรฐานจากองค์กรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระดับโลก แสดงให้เห็นถึงความใสใจในการยกระดับคุณภาพผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบรับกับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคและคู่ค้าทางธุรกิจในระดับสากล