ข่าวอัพเดทรายวัน

กาฬสินธุ์สำรวจปริมาณกุ้งก้ามกรามเตรียมขึ้นโต๊ะเสิร์ฟสงกรานต์

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกรามกรามที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สุ่มตรวจปริมาณกุ้งกรามกรามในบ่อเตรียมขายส่งตลาดทั่วภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่างและ สปป.ลาว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึง ขณะที่ประธานสมาพันธุ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และนักวิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกร ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง และบริหารจัดการในบ่อ เพื่อคุณภาพและเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่บ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบ้านโนนสามัคคี ต.นาเชือก และบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล นักวิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้ประกอบการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งกรามกราม จาก จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่ติดตามการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดิน โดยมีนายอนุชา ฤทธิ์เรือง ประธานกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนาเชือก-บัวบาน และเกษตรกรต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลและตรวจเช็คปริมาณกุ้งในบ่อ

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจและให้คำแนะนำ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในเขต ต.นาเชือก และต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแปลงใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำในส่วนของการตรวจสภาพน้ำ ตรวจสภาพกุ้ง การให้อาหาร และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการอื่นๆ แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนประสานความร่วมมือการทำงานกับทางฝ่ายวิชาการ ตลอดจนเครือข่ายผู้เพาะพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม จึงได้ถือโอกาสนี้ลงพื้นที่สอบถามอุปสรรค ปัญหา ความต้องการของเกษตรกร โดยพบว่าราคากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ ราคาสูงกว่ากุ้งก้ามกรามในแถบภาคกลาง หากมีการพัฒนาการเลี้ยง ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและทำรายได้สูงขึ้นอีกด้วย

ด้าน ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล นักวิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางสถาบันฯ ได้มีการวิจัยพันธุ์กุ้งก้ามกราม สายพันธุ์ MU1 โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ นำมาเลี้ยงในบ่อดินช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าได้ผลผลิตที่น่าพอใจ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็จะนำข้อมูล ปัญหา ที่ได้รับฟังจากเกษตรกร ไปปรับใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งก้ามกราม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่ในส่วนการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์นั้น พบว่าเน้นกุ้งสด ตัวใหญ่ หากมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกกุ้งคุณภาพ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ให้มีผลผลิตมากขึ้น และมีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากขึ้น ที่จะส่งผลให้รายได้ดี มีกำไร เกษตรกรอยู่ได้

ขณะที่นายอนุชา ฤทธิ์เรือง ประธานกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนาเชือก-บัวบาน กล่าวว่าการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ของเกษตรกรชาว ต.นาเชือก และ ต.บัวบาน รวมทั้ง ต.เขาพระนอน ต.ดอนสมบูรณ์ ต.คลองขาม อ.ยางตลาด และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้รับน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว ซึ่งทำการส่งน้ำให้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และเกษตรกรชาวนา ได้รับน้ำอย่างบริบูรณ์ ทำให้มีอาชีพและสร้างงาน เกิดรายได้ตลอดปี ทั้งนี้ในส่วนปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเคยประสบ คือพันธุ์ลูกกุ้งที่นำมาเพาะเลี้ยงไม่ค่อยจะมีคุณภาพ อัตราการรอดต่ำ เจริญเติบโตช้า แต่พอได้รับคำแนะนำจากประธานสมาพันธุ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และนักวิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำลูกกุ้งสายพันธุ์ MU1 มาเพาะเลี้ยงก็สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหานี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม กุ้งก้ามกรามจะขายดีมากในช่วงเทศกาล โดยหลังจากเทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต่างเพิ่มปริมาณการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการตลาดขยายตัวมากขึ้นหลังสถานการณ์วิด-19 คลี่คลายไป ทั้งนี้ เพื่อส่งจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ในส่วนของสมาชิกกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนาเชือก-บัวบาน จึงได้เร่งสำรวจปริมาณกุ้งในบ่อ ซึ่งจะได้อายุเก็บจับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี คาดว่าจะมีกุ้งก้ามกรามสดจากกาฬสินธุ์ ขายส่งทั่วภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และสปป.ลาวไม่น้อยกว่า 100 ตัน