ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม เดินหน้าแผนงาน เตรียมสร้างศูนย์เรียนรู้ วิชชาลัยนาหว้า วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมหารือกับคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ วิชชาลัยนาหว้า วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิตผ้า การทอผ้า สำหรับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้ทรงให้กำเนิดศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 เพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรได้มีอาชีพ มีรายได้ จากการทอผ้าไทยที่มีความสวยงาม มีลวดลาย มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะถิ่น ทั้งเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

โดยในวันนี้เป็นการหารือถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งปัจจุบันอำเภอนาหว้าได้ดำเนินการขอใช้ที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ นพ.792 ต่อจากทางโรงเรียนชุมชนนางัว ที่มีการขอใช้อยู่ก่อนหน้านี้ และทางผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 ได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นการดำเนินการของโรงเรียนเพื่อส่งคืนพื้นที่ให้สำนักงานธนารักษ์ และศูนย์เรียนรู้วิชชาลัยนาหว้า วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอใช้พื้นที่และของบประมาณการก่อสร้างมาดำเนินการ จากนั้นเป็นการหารือในเรื่องของการออกแบบอาคาร ซึ่งทางวิศวกรได้มีการออกแบบเบื้องต้นให้เป็นรูปรังไหม มีชื่อและตราสัญลักษณ์นาหว้าโมเดล แต่เพื่อให้แสดงถึงอัตลักษณ์จังหวัดนครพนม ในที่ประชุมจึงได้มีการขอให้เพิ่มตราสัญลักษณ์เขาเลียงผา ที่เป็นซุ้มประตูแบบที่อยู่กับองค์พระธาตุพนมเพิ่มเขาไปด้วย โดยภายในจะประกอบไปด้วย เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ห้องทรงงาน ห้องจัดแสดงผ้า ห้องนิทรรศการ ห้องประชุม ห้องถ่ายภาพ ห้องย้อมผ้า ห้องเก็บของ และตรงกลางอาคารจะเป็นสถานที่ทอผ้า ส่วนด้านนอกอาคารจะมีสถานที่จอดรถ การออกแบบระบบระบายน้ำ การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณ การกำหนดประตูทางเข้าออก 2 ทาง นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ที่จะฝึกอบรมให้กลุ่มทอผ้าสามารถผลิตลายผ้าได้หลากหลายลวดลายมากยิ่งขึ้น มีการตัดเย็บชุดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ในหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มวัย ที่มีความทันสมัย และใส่ได้ทุกโอกาส รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สำหรับประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทีวี วิทยุ และสื่อโซเชียล โดยจะมีการบูรณาการในหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ไปสู่จุดหมาย