ข่าวอัพเดทรายวัน

อุตุนิยมนครพนมแจ้ง ค่า PM 2.5 สูง 203 มคก. มีผลกระทบต่อสุขภาพ

วันที่ 7 มี.ค. 2566 นายอภิชัย ฤทธิกรรฒ รักษาการ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดงล้อม เปิดเผยว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครพนม แจ้งเกี่ยวกับ ค่าฝุ่น PM2.5(ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) 203 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ มีผลกระทบต่อสุขภาพ และมีแนวโน้มทรงตัว ค่าฝุ่น PM10 มีค่า 124 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่ามลพิษในอากาศ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในเกณฑ์คุณภาพดีมาก ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ของจังหวัดนครพนม อยู่ในระดับ คุณภาพอากาศ มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ยังคงวนเวียนอยู่อากาศที่เราหายใจในทุก ๆ วัน การป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนอย่างมาก เพราะหากเราละเลยและขาดความระมัดระวังก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matter 2.5) เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร จัดเป็นมลพิษทางอากาศที่มีมากในปัจจุบัน โดยต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ อาทิ ไฟป่า การเผาไม้หรือขยะในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ การสูดดมฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้นอาจทำให้ไอ จาม น้ำมูกไหล และมีปัญหาในการหายใจ แต่ในระยะยาวอาจส่งผลต่อระบบอวัยวะในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ อาทิ ฝุ่น PM 2.5 สะสมอยู่ในปอดหรือกระแสเลือด ปอดทำงานผิดปกติ โรคประจำตัวอย่างโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอาการแย่ลง สตรีมีครรภ์อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด และทารกอาจมีพัฒนาการที่ผิดปกติ

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วยตัวเอง ผลกระทบต่อสุขภาพไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่แค่ปล่อยไว้เดี๋ยวฝุ่นก็หายไปหรือไม่นานอาการจากการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมาก ๆ ก็จะดีขึ้น เราจึงควรระมัดระวังฝุ่น PM 2.5 เท่าที่ทำได้มากที่สุด โดยหมั่นป้องกันตัวเองจากฝุ่นหรือมลพิษทางอากาศทั้งตอนอยู่ในบ้านและนอกบ้านด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นประจำ หากจำเป็นต้องออกไปใช้ชีวิต เรียน ทำงาน หรือทำกิจกรรมใด ๆ นอกบ้านในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานและระบุชัดเจนว่าช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5หากต้องการออกกำลังกายควรงดกิจกรรมหรือกีฬาประเภทที่ทำให้หายใจแรงหรือเร็วมาก เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเตะฟุตบอล หรือการเล่นแบดมินตัน เพราะอาจทำให้เราหายใจเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการสวมหน้ากาก N95 ขณะออกกำลังกายด้วย เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน หลีกเลี่ยงถนนหรือบริเวณริมถนนที่มีรถติดหรือสัญจรไปมาอยู่เสมอ ไม่เผาไม้ ใบไม้ ขยะ หรือกระดาษเงินกระดาษทองในที่โล่งแจ้งแม้จะเป็นขยะหรือกิ่งไม้กองเล็ก ๆ ก็ตาม เนื่องจากการเผาสิ่งของเหล่านี้สามารถสร้างฝุ่นละอองในอากาศให้มากขึ้น ป้องกันฝุ่น PM 2.5 เมื่ออยู่ในบ้าน บางคนอาจคิดว่าแค่อยู่ในบ้านก็ปลอดภัยแล้ว แต่ที่จริงฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้ามาในที่อยู่อาศัยของเราได้ จึงควรลดปริมาณฝุ่นละอองภายในบ้านด้วยวิธีต่อไปนี้

หากบ้านอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงควรปิดประตูหรือหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน
หาอุปกรณ์หรือตัวช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองหรือฟอกอากาศภายในบ้าน อาทิ เครื่องฟอกอากาศ หรือต้นไม้ขนาดย่อม ๆ หมั่นเช็ดล้างและทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ให้สะอาด ปราศจากฝุ่นอยู่เสมอ หากต้องการใช้เครื่องดูดฝุ่นควรเลือกรุ่นที่มีแผ่นกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air) ซึ่งจะช่วยดักจับฝุ่น ควัน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศได้ดีกว่าแผ่นกรองทั่วไป ไม่ควรสูบบุหรี่หรือประกอบอาหารที่ใช้ฟืนหรือถ่าน เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ

นอกจากนี้ การติดตามรายงานค่าคุณภาพอากาศจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือหรือแหล่งข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษก่อนเริ่มต้นวันหรือก่อนทำกิจกรรมใด ๆ ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราวางแผนการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศอื่น ๆ อีกด้วย แม้เราจะมองไม่เห็นฝุ่น PM 2.5 แต่เจ้าฝุ่นชนิดนี้และมลพิษทางอากาศยังอยู่รอบตัวเราในทุกวินาที เราทุกคนจึงควรหาวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพในระยะสั้นและในระยะยาว หากร่างกายมีอาการผิดปกติในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมทันที