ข่าวอัพเดทรายวัน

ศรีสะเกษ ตำรวจเข้มแก้ไขปัญหาปัญหายาเสพติดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบ

ศรีสะเกษ ตำรวจเข้มแก้ไขปัญหาปัญหายาเสพติดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ(ครู ข.)

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมลำดวนทอง โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ (ครู ข) ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดการฝึกอบรมขึ้น โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมจำนวน 224 คน ประกอบด้วย ข้าราชการตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน สภ.ละ 4 นาย ผู้แทนฝ่ายปกครอง สภ.ละ 1 คน ผู้แทนฝ่ายสาธารณสุข สภ.ละ 1 คน ผู้นำชุมชน สภ.ละ 1 คน โดยมี พล.ต.ต.ลาภ ศรีสำอางค์ ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศุภชัย ศักรินพานิชกุล รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ นายเริงศักดิ์ เกตุจันทึก ผบ.เรือนจำ จ.ศรีสะเกษ นายมานะพันธ์ อังคสกุลเกียรติ รอง นายก อบจ.ศรีสะเกษ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายก อบจ.ศรีสะเกษ นายคมสัน เพิ่มบุญ รองนายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมทุกคนร่วมพิธีและให้การต้อนรับ

พล.ต.ต.ลาภ ศรีสำอางค์ ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 และให้ดำเนินการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบ ชุดปฏิบัติการชุมชน ยั่งยืนฯ (ครู ข) ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน ในสถานีตำรวจ และหน่วยงานที่ตนเองสังกัด อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความร่วมมือ และความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน หมู่บ้าน ในการป้องกันแก้ไข และเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด การฝึกอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรต้นแบบชุมชนยั่งยืน ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำงาน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทีมวิทยากรชุมชนยั่งยืนฯ ของตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ (ครู ก) ที่ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิ์ภาพ ทักษะการปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 23-24 ก.พ.2566 ณ โรงแรมสตาร์เวลล์บาหลี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การอบรมนี้เป็นชุดวิทยากรที่จะเข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่เป้าหมายในการทำโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยให้แต่ละจังหวัดคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย สภ.ละ 1 แห่งเพื่อลงไปขับเคลื่อน ซึ่งทีมวิทยากรที่มาทำการอบรมในวันนี้โดยทีม ครู ก. ซึ่งเป็นวิทยากรระดับจังหวัด ที่ผ่านการอบรมมาจะมาถ่ายทอดแนวทางในการลงไปขับเคลื่อนในพื้นที่ในหมู่บ้าน ความจริงแล้วโครงการนี้ก็ได้ทำมาเป็นปีที่ 3 แล้วในพื้นที่ของเรา เพราะว่าทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็ลงไปทำงานในเรื่องของชุมชนยั่งยืนเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชนโดยผ่านกระบวนการของผู้นำชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ และเมื่อทีมลงไปร่วมทำงานกับหมู่บ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 – 4 เดือนก็ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นผู้เสพเองก็จะเข้าสู่กระบวนการของการบำบัด โดยใช้กระบวนการชุมชนบำบัด ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีทางสาธารณสุขเข้าไปรับผิดชอบดูแลช่วย

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นก็มีการส่งเสริมสนับสนุนดูแลเรื่องอาชีพมีการอบรมพัฒนาต่อยอดซึ่งเป็นการดูแลในส่วนของผู้ติดยาเสพติด และเป็นกระบวนการเฝ้าระวังของหมู่บ้านชุมชน เช่น การหาข่าว การป้องกันปัญหายาเสพติดไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน การจัดเวรยาม การดูแลเพราะว่าหลังจากทีมเข้าไปช่วยขับเคลื่อนร่วมกับหมู่บ้านเสร็จ เราก็จะต้องส่งมอบต่อให้กับหมู่บ้านดำเนินการต่อไป เพราะว่าเป็นการวางรากฐานให้หมู่บ้านมีความมั่นใจโดยเฉพาะทีมผู้นำสามารถที่จะดูแลหมู่บ้านของตนเองต่อไปได้ เป็นความเข้มแข็งซึ่งเป็นความคาดหวังเพราะว่าในการที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลทุกหมู่บ้านเป็นเรื่องลำบาก แต่ถ้าเรากระตุ้นให้ผู้นำชุมชนและชุมชนลุกมาสู้ด้วยตนเองจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โครงการชุมชนยั่งยืนก็จะเป็นแนวทางสร้างความมั่นคง สร้างความยั่งยืนให้กับหมู่บ้านโดยผ่านกระบวนการของผู้นำและทีมงานระดับหมู่บ้านที่จะต้องเข้ามาทำงานแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ยังกล่าวด้วยว่า ซึ่งก็จะต้องยอมรับว่าในส่วนของตัวยาเสพติดนั้นจะมีมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะของเราโดยจากภาพรวมของปัจจัยภายนอกพวกเราทราบดีว่ามีผู้ผลิตจำนวนมากขึ้นราคาก็จะลดลงปริมาณก็จะเพิ่มขึ้น ในแนวทางก็คือทุกพื้นที่จะต้องพยามป้องกันพื้นที่ของตนเองในส่วนของ จ.ศรีสะเกษก็ให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามภายใต้โครงการ 238 พิทักษ์นครลำดวน จะเป็นชุดหลักในการป้องกันปราบปรามโดยการประสานงานกับกำลังของฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ปกครอง ยุติธรรม เรือนจำแล้วก็ใช้เครือข่ายตรงนี้ในการเฝ้าระวัง ที่เราจับได้มากขึ้นไม่ใช่เพราะว่าปัญหาของเรามากขึ้นหรือเปล่า แต่ว่าแนวทางคือการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่เรามีมากขึ้นและความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วน มีความจริงจังในเรื่องของติดตามตัวยาที่จะเข้ามา ก็มีการวางสายข่าวที่ดีโดยประสานงานกับจังหวัดข้างเคียง ทำให้เราสามารถจับกุมได้มากขึ้นอันนี้ก็คือเป็นส่วนที่เราต้องป้องกันไม่ให้ตัวยาเข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่ของเรา เพราะว่าทำแล้วถือว่าประสบความสำเร็จทำให้ในส่วนของจำนวนเม็ดยาและจำนวนคดีก็มากขึ้นเพราะว่าเราก็เร่งรัดการปราบปรามอย่างเต็มที่ด้วย