ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม ชาวผู้ไทเรณูนคร จัดใหญ่รังสรรค์วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นขบวนแห่สงกรานต์ สร้างผลงานชิ้นเอกแห่รอบเมือง สืบสานประเพณีไทย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามกีฬาที่ว่าการอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดและปล่อยขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์ผู้ไทเรณูนคร ประจำปี 2566 ที่นายอำเภอเรณูนคร ร่วมกับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอเรณูนครจัดขึ้นเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ทั้งเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมภายในงานจะมีทั้งการร่วมกันทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ รดน้ำขอพจากผู้สูงอายุ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำเผ่าผู้ไท การประกวดร้องเพลง การประกวดสาวงาม และการประกวดขบวนแห่สงกรานต์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสีสันต์ของงานด้วยความยิ่งใหญ่ตระการตา กับการสร้างสรรค์ขบวนแห่ของแต่ละชุมชนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กลายเป็นขบวนแห่นางสงกรานต์ที่งดงาม โดยแต่ละคนจะมีการนำเอาทักษะความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่มาช่วยกันประกอบชิ้นส่วนเพื่อที่จะใช้ตกแต่งขบวนรถแห่ตามจินตนาการที่ได้ร่วมกันออกแบบ เช่น การนำเอาต้นกกและดอกหญ้าในชุมชนที่หลายคนใช้สร้างเป็นอาชีพเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวจากการทอสื่อ ทำกระเป๋า และไม้กวาด มาร่วมกันออกแบบและถักทอในรูปแบบใหม่จนกลายเป็นเรือพญานาคขนาดใหญ่สวยงามหาที่ใดเหมือน หรือบางขบวนก็มีการนำดอกไม้นา ๆ ชนิดที่แต่ละคนปลูกไว้จำหน่าย และเพื่อความสวยงามของแต่ละบ้าน มารวมกันจัดตกแต่งใส่ตูบวางบนรถแห่ โดยมีการประดับสลับสีใส่หวดนึ่งข้าวเหนียวของคนอีสานแล้วร้อยต่อกันให้เป็นเหมือนตัวพญานาคเลื้อยไปตามตูบที่วางอยู่บนรถแห่กลายเป็นอีกหนึ่งความสวยงามที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่ได้พบเห็น หยิบมือถือและกล้องขึ้นมาถ่ายภาพแห่งความประทับใจไว้ในความทรงจำ โดยขบวนแห่ทั้งหมดจะมีการแห่ไปรอบอำเภอเรณูนครพนมเพื่อให้ทุกคนได้ชมก่อนที่จะย้อนกลับมายังบริเวณงานอีกครั้งเพื่อประกวดชิงรางวัล

นอกจากนี้ภายในงานชาวผู้ไทเรณูนคร ยังได้มีการจัดสร้างซุ้มและบ้านจากไม้ไผ่ ประดับด้วยธุงหลากสี ไว้ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้มานั่งพักผ่อนไปพร้อมกับเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของเมืองเวเรณูนคร และการจับจ่ายสินค้าเด่นที่แต่ละชุมชนนำมาวางจำหน่ายเพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้จับจองเป็นของฝากของที่ระลึกสำหรับบุคคลอันเป็นที่รักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือจะเลือกซื้อหาอาหารเด็ดที่แม่ครัวนำวัตถุดิบมาปรุงให้รับประทานแบบถึงที่เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ลิ้มลองกับเมนูข้าวปุ้นน้ำนัวกะปิปลาร้า ที่เป็นอาหารพื้นบ้าน รสเลิศ เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวผู้ไทซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมทั้งจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่ได้ลิ้มลองแล้วติดใจซื้อหากับไปฝากคนอื่น ๆ ให้ได้รับประทานเพราะชาวผู้ไทมีการพัฒนาเป็นแบบอบแห้งที่สามารถนำไปปรุงที่ไหนรับประทานก็ได้