ข่าวอัพเดทรายวัน

สกลนคร กรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการสัญจร เขตบริการสุขภาพที่ 7,8,9,10 “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” (Save Thais from Heart Diseases)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมภูริทัตโต ชั้น 9 อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการสัญจร เขตบริการสุขภาพที่ 7,8,9,10 “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” (Save Thais from Heart Diseases) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27- 28 เมษายน นี้

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ประธานกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ (Service Plan) เครือข่ายละ 4-8 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 13 เครือข่ายบริการ ดูแลประชากรเครือข่ายละ 5-6 ล้านคน เชื่อมโยงสถานบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และสถาบันเฉพาะทาง โดยการเน้นประสิทธิภาพการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ กรมการแพทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบสาขาโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนไทยในระดับต้นๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้มอบหมายให้สถาบันโรคทรวงอกจัดโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases) ตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน มีการส่งต่อระบบเครือข่าย จัดอบรมให้ความรู้แนวทางการดูแลรักษาที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบันตามมาตรฐานสากล พัฒนาการรวบรวมและเก็บข้อมูลระดับประเทศ (Thai ACS Registry)

จากผลการดำเนินงานโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานมากขึ้น กรมการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านวิชาการจึงมีนโยบายสนับสนุนโดยเน้นรูปแบบการให้บริการที่เป็นเครือข่ายตั้งแต่ต้นทางจนถึงการรักษาในระดับตติยภูมิและเพิ่มขีดความสามารถให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดนครพนม, เลย, หนองคายและมุกดาหาร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและจากภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้เข้าถึงการรักษาโรคหัวใจได้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบเครือข่าย พัฒนาขีดความสามารถของระบบส่งต่อและเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในโรงพยาบาลระดับต่างๆตามเครือข่ายบริการสุขภาพ(Service Plan) โดยผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้รับการรักษาโดยการเปิดหลอดเลือดโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางสายสวนได้รวดเร็วและทันเวลา มีการจัดตั้ง Warfarin clinic หรือ Anticoagulant clinic ทุกแห่ง พัฒนาโรงพยาบาลระดับ A ให้มี Heart Failure clinic อย่างน้อย 1 แห่งในทุกเขตบริการ ตลอดจนให้มีการจัดเก็บข้อมูลโรคหัวใจที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการให้บริการ ซึ่งการจัดประชุมวิชาการสัญจรในโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases) ในครั้งนี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลในเขตบริการสุขภาพที่ 7,8,9,10 โดยโรงพยาบาลสกลนครร่วมเป็นเจ้าภาพได้มีกิจกรรมบรรยายทางวิชาการเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน และการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในรูปแบบสหวิชาชีพ การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อบรมการลงข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Thai ACS Registry เพื่อให้ได้ข้อมูลระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจที่เป็นปัจจุบัน

ด้านนายแพทย์สมโภช ธีระกุลภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร กล่าวถึงข้อมูลจาก Thai ACS Registry พบว่าสถานการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจของเขตบริการสุขภาพที่ 7,8,9,10 ในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566) ดังนี้ มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 261 แห่ง จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับบริการทั้งสิ้น 1,994 ราย เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ 1,070 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วย STEMI 600 ราย เสียชีวิตในโรงพยาบาล 56 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.10 ได้รับการรักษาโดย PCI 257 ราย, PPCI 215 ราย และได้รับยาละลายลิ่มเลือด 210 ราย ผู้ป่วย NSTEMI 439 ราย เสียชีวิตในโรงพยาบาล 23 รายคิดเป็นร้อยละ 7.34

การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ผู้รับผิดชอบข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตบริการสุขภาพที่ 7,8,9,10 จำนวนทั้งสิ้น 200 คน และผู้เข้าร่วมการประชุมแบบ Online โดยทีมวิทยากรจากสถาบันโรคทรวงอกโรงพยาบาลสกลนครและโรงพยาบาลในพื้นที่