ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรคลินิกพืชให้บริการเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันโรคพืช

คลินิกพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธรและคลินิกพืชสำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกอำเภอ ให้บริการเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกร ใช้ป้องกันและทำลายเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน

คลินิพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร และคลินิกพืชสำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกอำเภอ ผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อให้บริการแจกจ่ายแก่เกษตรกร นำไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันและทำลายเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูง เจริญได้ดีในดินที่ทีความชื้นสูงแต่ไม่แฉะ มีความสามารถในการแย่งอาหารและปัจจัยต่างของเชื้อราสาเหตุโรคพืช มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโค่นเน่า โรคเหี่ยว โรคกุ้งแห้งในพริก โรครากขาวในยางพารา โรคเส้นดำ โรคใบร่วงของยางพารา เป็นต้น

สำหรับวิธีการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้เกษตรกรหุงข้าวใช้ข้าวสาร 3 ส่วน และน้ำ 2 ส่วน จะได้ข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบ ลักษณะเมล็ดข้าวข้างนอกเมล็ดปริ ส่วนข้างในเป็นไตสีขาว ซุยข้าวให้เมล็ดข้าวร่วน ตักข้าวใส่ถุง ขณะยังร้อน ถุงละ 250 กรัมพับปากถุงลงด้านล่าง ทิ้งไว้ให้ข้าวอุ่นใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา หากเป็นหัวเชื้อน้ำ ใช้ประมาณ 3-5 หยด รัดยางตรงปากถุงให้แน่นโดยให้มีพื้นที่ว่างในถุงมากกว่าพื้นที่ใส่ข้าวเขย่าหัวเชื้อให้กระจายทั่วเมล็ดข้าวเจาะรูใต้ยางที่มัดถุง โดยใช้เข็มสะอาดเจาะประมาณ 30 รูวางถุงข้าวในลักษณะแบนราบให้ข้าวแผ่กระจายทั่วถุง และไม่วางถุงข้าวซ้อนทับกัน นำไปวางบริเวณที่มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท ไม่มีมดและสัตว์อื่น ๆ ประมาณ 5 – 7 วัน เชื้อราจะเจริญปกคลุมเมล็ดข้าว โดยในการผลิตขยายทุกขั้นตอนควรทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ 70 % และผู้ปฏิบัติงานควรฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนทำการผลิตขยาย

สำหรับคำแนะนำการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทางดิน โดยผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม : รำละเอียด 4 กิโลกรัม : ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม โรยรอบโคนต้น ต้นละ 1 กิโลกรัม หรือผสมเชื้อสดกับรำละเอียดในอัตราส่วน 1 : 1 ทาบริเวณลำต้นที่เป็นโรค หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำสะอาด 100-200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง สำหรับเกษตรกรที่สนใจเรียนการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือต้องการเชื้อราไตรโคเดอร์มาไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูก สามารถเข้ามาติดต่อได้คลินิกพืชทุกแห่ง ณ อาคารศูนย์บริหารจัดการศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกอำเภอใกล้บ้าน