ข่าวอัพเดทรายวัน

จุดเช็คอินกลางเมืองเลยศิลปะภาพวาดวิถีชีวิตชุมชนบนกำแพงบ้านไทเฮา

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ที่ตลาดฮิมห้วย บ้านแฮ่ ถนนคีรีรัฐ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย เป็นประธานเปิดโครงการปฏิบัติการสร้างสรรค์ศิลปะ ฮีตเก่าคองหลังบนผนังกำแพงบ้านไทเฮา โดยมีนางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย นายทนง สุวรรณสิงห์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย พร้อมด้วยผู้แทน นายกเทศมนตรีเมืองเลย วัฒนธรรมจังหวัดเลย และศิลปินท้องถิ่นเลยตามเลย เข้าร่วมงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรพรรณ ภูวิจารย์ ประธานชุมรมศิลปะเลยตามเลย กล่าวรายงานว่า โครงการปฏิบัติการสร้างสรรค์ศิลปะ ฮีตเก่าคองหลังบนผนังกำแพงบ้านไทเฮา ซึ่งเป็นโครงการที่ชมรมเราได้ตระหนักในความสำคัญของการสร้างความรักความภาคภูมิใจในพื้นถิ่น ทำให้เกิดความสมานสามัคคีของชุมชน อันจะนำไปสู่ การร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชน บ้านเมืองต่อไป ชมรมของเราจึงได้ร่วมกันจัดโครงการเขียนรูปเพื่อบอกเล่าความเป็นชุมชนไทเลยในเขตชุมชนแฮ่ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์จากการเล่าต่อๆ กันมาว่า ชุมชนแฮ่เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดเลย เป็นชุมซนที่มีวิถีชีวิต ที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีงาม ชมรมเราได้รวบรวมศิลปินที่เป็นคนมีพื้นเพในเมืองเลย มารวมกันถ่ายทอดสร้างสรรค์ภาพเขียนตามคำบอกเล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน บ้านเมือง และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดเลยที่ว่า เมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีศิลปินท้องถิ่นชาวจังหวัดเลย ร่วมกันวาดภาพวิถีชีวิตชุมชน งานศิลปะบนผนังกำแพงบ้านชุมชนบ้านแฮ่ และผนังกำแพงริมห้วยน้ำหมาน ที่เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ได้มาท่องเที่ยวในตัวเมืองเลย

นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้มีนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเลยที่จะพัฒนาเมืองเลยให้เป็นเมืองที่มีความสะอาด สวยงาม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการนำหลักการ บวร ที่มีบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ซึ่งเป็นสถานบันหลักของสังคมไทย ที่เป็นสายยึดเหนี่ยว ชุมชนมาตั้งแต่อดีต ทำให้สังคมไทยดำรงอยู่ อย่างสันติมาช้านาน การที่เหล่าศิลปินท้องถิ่นชุมชน วัด ตลอดจนศิลปินที่รับราชการ เป็นครูสอนศิลปะมาร่วมกันสร้างสรรค์ งานศิลปะบนผนังกำแพงบ้าน และผนังกำแพงริมห้วยน้ำหมานนี้ จึงเป็นการใช้พลังบวรมาค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน มาสร้างความสัมพันธ์ ของสถาบันครอบครัว ให้มีการอบรมสั่งสอน ปลูกฝั่ง ศีลธรรม และค่านิยมที่ดีงาม แก่ลูกหลาน โดยผ่านทางผลงานทางศิลปะสะท้อนถึงวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่สร้างบ้านแปลงเมือง พัฒนาจากชุมชนเล็กๆ จนขยายเจริญเติบโตมาจนปัจจุบัน