วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงาน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัยและทุกโอกาส โดยมี นายนพดล พลคนซื่อ นายอำเภอนาหว้า นางรัชวรรณ์ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอนาหว้า เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอนาหว้า และคณะกรรมการกลุ่มฯ ร่วมให้ข้อมูลผลการดำเนินงานฯ


นับเป็นพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาทรง “ผ้าลายต้นสนนารี” ซึ่งเป็นลายสร้างสรรค์ลายใหม่ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ณ บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นผืนผ้าที่ถักทอขึ้นจากเส้นใยฝ้ายย้อมครามน้ำห้า ทอด้วยเทคนิค 4 ตะกอ ฟืมลายสร้อยพร้าว (ฟืมยีนส์) ย้อมและถักทอโดย นางสาวจันทร์เพ็ญ วงศรียา (สมาชิกกลุ่มฯ) พระภูษาทรง ผ้าลายต้นสนนารี’ จาก “นาหว้าคอลเลกชั่น” ออกแบบตัดเย็บโดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ Theatre ด้วยแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ไทยประเพณีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีที่มาจากเครื่องแต่งกายแบบไทยโบราณที่เรียกกันว่า ‘เครื่องนุ่ง’ และ ‘เครื่องห่ม’ เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแถบโลกตะวันออกที่นิยมใช้ผ้าทั้งผืนที่มีลวดลายงดงามมามัด พันผูกคล้ายผ้านุ่งและโจงกระเบน





กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม จำนวนสมาชิก 34 คน ได้รับการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยมุ่งพัฒนาให้ “นาหว้าโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย และทุกโอกาส โดยทีมพัฒนาจากทีมที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและผ้าไทย ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและพัฒนา ได้แก่ การย้อมสีธรรมชาติจากพืชในพื้นถิ่น ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย พัฒนาเส้นใยให้ได้มาตฐาน การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาลวดลายผ้าให้มีมาตรฐาน ทันสมัย โดยให้กลุ่มทอผ้าลายในพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 1 ลาย (ลายนาคคล้องโซ่) ทอผ้าลายโบราณของกลุ่มให้ปรับสีใหม่ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ 10 ลาย (ลายขอห้อยเครือ, ลายต้นสน, ลายตุ้มดอกรัก, ลายดอกแก้ว, ลายนกนางแอ่น, ลายนางเอก, ลายหมี่กงน้อย, ลายหมี่กวด, ลายหมี่ขั้นนาคหัวซ้อง, ลายหมี่เครือกาบ) และทอผ้าลายสร้างสรรค์ลายใหม่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญออกแบบให้ 5 ลาย (ลายต้นสนนารี, ลายหมี่กงมงคล, ลายตุ้มเพชร, ลายนาหว้าศิลป์, ลายบันไดแก้ว) รวมทั้งสิ้น 16 ลาย อีกทั้ง ติดตามส่งเสริมการทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนกำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 และส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้นำพืชและไม้ในพื้นถิ่นมาย้อมเป็นสีธรรมชาติ ใช้เส้นไหมเส้นฝ้ายธรรมชาติ ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน โดยนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้แนะนำให้ย้อมสีธรรมชาติที่หลากหลาย เทรนสีทันสมัย ให้กลุ่มส่งผ้าฯ เข้าร่วมประกวดจำนวนมากๆ ซึ่งอำเภอนาหว้า กำหนดเป้าส่งประกวดฯ จำนวน 100 ผืน


นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการจังหวัดและอำเภอ เร่งติดตามส่งเสริมการทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และรับสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยจังหวัดนครพนม มีเป้าหมายการส่งประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จำนวน 350 ชิ้น และงานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานไปต่อยอด จำนวน 20 ชิ้น ปัจจุบันมีผู้สมัครประกวดผ้าลายพระราชทานฯ มาแล้ว 56 ชิ้น และงานหัตถกรรม 19 ชิ้น



