สาธารณสุขจ.บุรีรัมย์ จับมือหลายภาคส่วน ติวเข้มพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หลอน คลุ้มคลั่งจากฤทธิ์ยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงให้ลดลง หลังพบแนวโน้มผู้ป่วยจิต และคนหลอนคลุ้มคลั่งจากฤทธิ์ยาเสพติดเพิ่มขึ้น





วันที่ 21 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และหลายภาคส่วน จัด “โครงการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จังหวัดบุรีรัมย์” ที่ห้องประชุม 901 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9 โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยมีนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน โดยการจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงาน ด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) และสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินงานในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม สืบเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพจิตถือเป็นปัญหาที่สำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุของความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัย และปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยบางประเภทมีอาการฉุกเฉินทางจิต มีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ





ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด จึงจัดทำ โครงการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง โดยนำผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด สุขภาพจิต และงานการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและมูลนิธิสว่างจรรยาธรรมฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวช และหลอนคลุ้มคลั่งจากยาเสพติดมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงการก่อความรุนแรง
นายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด สาธารณสุขจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากข้อมูลก็มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ามารับการรักษาตาม รพ.ต่างๆ ในจังหวัด โดยมีการให้รับประทานยาต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจากการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็สร้างความเดือดร้อนและมีภาวะที่จะก่อความรุนแรงทั้งในครอบครัว สังคม ดังนั้นจังหวัดบุรีรัมย์ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลบุคคลเหล่านี้ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันตั้งแต่เริ่มต้นทั้งการรับประทานยา รวมถึงมาตรการในการดูแลในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดการก่อปัญหาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงบำบัดรักษาให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกันหลายฝ่าย