ข่าวอัพเดทรายวัน

ปปช.ภาค 4 แจงกับสื่อกรณีการสอบครูผู้ช่วยปี 66

ปปช.ภาค 4 แจงกับสื่อกรณีการสอบครูผู้ช่วยปี 66 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ออกข้อสอบมีข้อพิรุธสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต ทุกเขตพื้นเริ่มทยอยประกาศผลการสอบ ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีไม่ได้บอกปัดความรับผิดชอบเพียงแต่กระบวนการทำงานมีเวลาจำกัด เอกสารใส่ผิดซอง และได้รับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

วันนี้(1 ก.ค.66)ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังเดินทางมาเป็นประธานมอบเกียรติบัตรการนำเสนอผลการดำเนินงานชมรมเยาวชน STRONG NEW GEN ต้านทุจริตในสถานศึกษาจังหวัดหนองบัวลำภู ณ โรงแรมภูฟ้ารีสอรท์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู กรณีการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ออกข้อสอบ ขณะที่ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มทะยอยประกาศผลการสอบครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 24-25 มิย.ที่ผ่านช่องทางเป็นระยะ

โดย นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 กล่าวว่า ป.ป.ช.เมื่อเราทราบข่าวว่าจะมีการสอบครูผู้ช่วยทั่วประเทศ โดยให้เขตพื้นที่ออกข้อสอบเองในส่วนของ ป.ป.ช.ไม่ได้นิ่งนอนใจเฝ้าสังเกตการณ์รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูกระบวนการตั้งแต่วันรับสมัครและวันสอบ เพราะจากประสบการณ์การทำงานของ ป.ป.ช.ทำให้คิดได้ว่าน่าจะมีการสุ่มเสี่ยง ต่อการทุจริต ประกอบกับนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องมีการสกัดปัญหา ก่อนที่จะมีเรื่องร้องเรียน ดังนั้นเราจะต้องมีการเฝ้าระวังโดยใช้นโยบายป้องกันนำปราบปรามทุจริตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ได้สั่งการให้ 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่กระบวนการเบื้องต้นว่าการออกข้อสอบเป็นอย่างไร มีการว่าจ้างหน่วยงานใดออกข้อสอบ และมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการสอบอย่างไร การดำเนินการต่างๆเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่อย่างไร เช่นกรรมการคุมสอบครบหรือไม่ ในห้องสอบมีกล้องวงจรปิด หรือมีการนำผู้อื่นเข้าไปสอบแทนหรือไม่หรือแม้แต่กระบวนการออกข้อสอบว่าทำไมต้องจ้างสถาบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้ออกข้อสอบก็ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด

ในส่วนของ 5 จังหวัดที่พบปัญหาไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ พบว่าส่วนใหญ่ถ้าเป็นข้อสอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เป็นผู้ออกข้อสอบค่อนข้างที่จะมีปัญหา อาทิเช่น ข้อสอบส่งไม่ครบตามจำนวนผู้ที่เข้าสอบมีคนเข้าสอบ 100 คนส่งข้อสอบเพียงแค่ 75 คน กระดาษคำตอบ 100 ข้อมีเพียงแค่ 75 ข้อหรือแม้แต่กระดาษ
คำตอบ กขคง.ไม่เป็นไปตามนั้นแต่เป็น กคขง.อะไรประมาณนั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น

รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ภาค 4 กล่าวอีกว่าเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว หน่วยที่ทำการสอบจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร ในเบื้องต้นก็ได้มีการแก้ปัญหาโดยนำกระดาษข้อสอบที่ไม่พอไปถ่ายเอกสารเพิ่มเติม หรือแม้แต่หากกระดาษคำตอบออกมาผิดข้อ ก็ได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกข้อ ทั้งนี้ทั้งนั้นถือว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีพอ การนำกระดาษข้อสอบนำไปถ่ายเอกสารข้อสอบทำให้เกิดข้อพิรุธ ทำไมหน่วยที่รับจ้างออกข้อสอบถึงส่งข้อสอบไม่ครบตามจำนวน หรือว่าส่งครบแล้วแต่มีการพิรุธในขั้นตอนนั้นๆ

เคยมีกรณีจากบางหน่วยงานที่ได้ทำการสอบพบว่า การเอากระดาษข้อสอบไปถ่ายเอกสาร ได้มีการนำกระดาษนั้น ไปทำเครื่องหมายต่างๆลง เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีการวิ่งเต้นได้สอบผ่านและได้รับบรรจุเป็นครูผู้ช่วย เหล่านี้คือข้อพิรุธทั้งนั้น ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่ได้นิ่งเฉย เราจะเฝ้าระวังจนถึงที่สุด ซึ่งในขณะนี้ได้ส่งทีมงานลงไปหาข้อมูล ตั้งแต่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เพื่อตรวจสอบดูว่าระบบ QC การตรวจสอบเป็นอย่างไร ระบบบรรจุข้อสอบเป็นอย่างไร เหตุใดในการส่งข้อสอบไม่ตรงตามเอกที่ได้วางไว้ เช่นสอบเอกวิทย์ เอกภาษาจีน ทำไมส่งข้อสอบไม่ตรงตามนั้น ทำไมข้อสอบ 100 คนจึงได้มีการส่งข้อสอบมาเพียง 75 ชุด ทำไมกระดาษคำตอบไม่เป็นไปตามนั้น

เพราะอย่าลืมว่าหลักการคิดคะแนนต้องตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าหากมีการแก้ไขตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นจะต้องนำกลับมาตรวจด้วยระบบมือ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ยังเฝ้าระวังจนกว่าจะมีการประกาศผลว่าการสอบเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม หากมีการดำเนินการที่ผิดพลาด ป.ป.ช.จะดำเนินคดีโดยเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำการทุจริตดังกล่าว

เพราะในมุมมองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการผู้นำที่ดี ถ้าครูทุจริตในการสอบเพื่อเข้ามาเป็นครูแล้ว ครูจะตอบกับสังคมได้อย่างไรจะสร้างเด็กให้บริสุทธิ์ และสร้างเด็กที่ไม่ทนต่อการทุจริตได้อย่างไร ในเมื่อครูเองก็ทุจริตในการสอบเข้ามา

ขอเรียนให้ทราบว่า ป.ป.ช.มีการเฝ้าระวังจนถึงที่สุด หน้าที่ของ ป.ป.ช.จะต้องแสวงหาว่ามีพิรุธที่ตรงจุดไหน ซึ่งทีมงานไม่ได้เพียงแค่ดูมอริเตอร์เท่านั้น ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปที่มหาวิทยาลัยที่รับออกข้อสอบและเขตพื้นที่ที่มีปัญหา ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปแล้วเพื่อดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหนทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้วมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร
รวมถึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เพื่อจะรู้ว่า TOR เป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร และทางพื้นที่มีความรับผิดชอบอย่างไร

ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งเฉยถ้าการสอบครั้งนี้เป็นไปในทางทุจริต ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนตามระเบียบกฎหมายต่อไป แต่ถ้าเป็นข้อบกพร่องจากผู้ออกข้อสอบที่ยังไม่พบว่ามีการทุจริต ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีการแก้ไข ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรนั้นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆที่จะต้องรายงานมายัง ป.ป.ช.

นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 กล่าวเพิ่มเติมว่าหากมีการดำเนินการโดยทุจริต ป.ป.ช. จะดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยเคร่งครัด ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ หรือเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดของการส่งข้อสอบ หรือผู้รับจ้างในการผลิตข้อสอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าส่อทุจริตหรือไม่

บางจังหวัดก็มีข้อพิรุธ เช่นซองข้อสอบได้รับการปิดผนึกที่ไม่แนบสนิท ชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีการแกะข้อสอบ ซึ่งเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น ซองบรรจุข้อสอบตามที่ TOR กำหนดจะต้องมีลายเซ็นของผู้ผลิตข้อสอบหรือไม่อย่างไรต้องดูหน้าซองมีรายละเอียด ให้ถี่ถ้วน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาและแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฎ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดหรือไม่นั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำให้ผู้เข้าสอบมีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ ป.ป.ช. สามารถตั้งข้อสังเกตได้ เช่นมีการส่งข้อสอบผิดและให้มาดำเนินการสอบใหม่อีกครั้งในวันถัดไป แล้วมีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าเสียเวลาค่าที่พักเพิ่มเติมตามที่เป็นข่าว

ซึ่งการออกข้อสอบต้องใช้เวลาออกข้อสอบเป็นอาทิตย์ แล้วต้องมาทำการออกข้อสอบใหม่ในช่วงเวลาหนึ่งวัน ถามว่าทำได้แค่ไหนอย่างไรการออกข้อสอบใหม่มีกระบวนการอย่างไร หรือเอาข้อสอบเก่ามาสลับข้อใหม่ต้องลงไปดูในรายละเอียด ขณะนี่อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าในฐานะผู้รับจ้างจะต้องทำให้ดีให้เกิดมีข้อผิดพลาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นการจ้างให้ทำข้อสอบไม่ใช้ทำให้ฟรี ซึ่งจะต้องดูว่า TOR กำหนดไว้อย่างไร ต้องเอา TOR มาดู

ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ยอมรับความผิดพลาด “ข้อสอบครูผู้ช่วยผิดซอง” แนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยยืนยันไม่มีการทุจริตแน่นอน โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่อเกิดความผิดพลาดเราก็ยอมรับ และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการทุจริต ไม่มีข้อสอบรั่วไหล ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด จากความเหนื่อยล้าของผู้ปฏิบัติเร่งรีบ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยิบยกขึ้นมาแก้ตัว

ด้าน ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 25 มิ.ย.66 เป็นการสอบวิชาเอก 27 วิชาเอก 607 ห้องสอบ ใน 6 จังหวัด พบปัญหา 3 สนามสอบ สนามแรก สพป.หนองคาย เขต 2 มี 12 ห้อง 283 คน วิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อเปิดซอบข้อสอบพบว่า 11 ห้องเป็นซองวิชาวิทยาศาสตร์ อีก 1 ห้องเป็นซองวิชาภาษาไทย สนามสอบ สพม.หนองคาย มีสอบ 2 วิชา คือ วิชาวิทยาศาสตร์ 3 ห้อง ไม่ผิดพลาด และวิชาเคมี 2 ห้อง ผิดพลาด 1 ห้องเป็นซองวิชาวิทยาศาสตร์ และสนามสอบ สพป.บึงกาฬ มีสอบภาษาจีน 2 ห้อง ผิดพลาด 1ห้อง ซองเป็นวิชาภาษาอังกฤษ

หลังพบเกิดความผิดพลาด 3 สนาม 4 ห้อง จึงได้มีการหารือกันทันที แล้วมีคำสั่งให้ยุติการสอบ 4 ห้อง และมีมติให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จัดสอบใหม่ โดยใช้โครงสร้างข้อสอบเหมือนเดิม ความยากง่ายเท่าเดิม โดยสอบใหม่เช้าวันที่ 26 มิ.ย.66 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีได้ออกข้อสอบใหม่บ่ายวันที่ 25 มิ.ย.66 พร้อมจัดส่งข้อสอบไปได้ทัน และจัดสอบได้ครบทุกคน ส่วนผู้เข้าสอบได้รับผลกระทบ 393 คน เราได้ขออภัยในความผิดพลาด และได้เยียวยา เป็นค่าที่พักและอาหาร 1,000 บาท ซึ่งบางรายมีค่าตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งค่าตอบแทนอาจารย์คุมสอบด้วย

ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ความผิดพลาด จากใส่ข้อสอบผิดซอง นอกจากใน 3 สนามสอบ และ 4 ห้อง ยังมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องธุรการ กรณีข้อสอบเดินทางไปล่าช้า แต่ก็เป็นไปตามเกณฑ์เงื่อนไขเวลาหรือกระดาษ คำตอบไม่ตรงกับจำนวนข้อสอบ ก็สามารถจัดส่งได้ทันเวลา ซึ่งกระบวนการสอบถือว่าจบแล้ว เป็นไปตามระเบียบทุกประการ