วันที่ 17 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืช จากการปลูกแบบเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชที่หลากหลาย และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในช่วงราคาผลผลิตตกต่ำและจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช ดังนั้น การปลูกพืชแบบผสมผสาน และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบถือเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การประกอบอาชีพของเกษตรกรยุคใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น





นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร ในกิจกรรมส่งเสริมการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตพืชทางเลือก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกทุเรียนตามมาตรฐาน GAP และสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 120 ราย และได้รับต้นพันธุ์ทุเรียน เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองแล้ว ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรนำต้นพันธุ์ทุเรียนไปปลูกแล้วประมาณ 3 เดือน โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ติดตาม เยี่ยมเยียน และให้คำแนะนำพร้อมบริการความรู้การเกษตรกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ด้านการปลูก การดูแล รักษา และการจัดการสวน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการจัดการและดูแลอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเจริญเติบโตของต้นทุเรียนดีขึ้น นอกจากนี้ยังร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและแห้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากการติดตามของเจ้าหน้าที่ ได้มีการสุ่มตรวจวัดการเจริญเติบโต เช่น ความสูง และทรงพุ่ม เพื่อดูการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนและพบว่าเกษตรกรหลายๆรายมีประสบการณ์ในการปลูกสร้างสวนทุเรียนแล้วพอสมควร และสามารถปลูกทุเรียนและให้ผลผลิตได้แล้วในหลายๆพื้นที่ของจังหวัดนครพนม ทำให้การที่ได้รับต้นพันธุ์ทุเรียนไปปลูกเพิ่มเติมเป็นการเพิ่มศักยภาพในการสร้างสวนทุเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่ในบางพื้นที่ยังไม่มีความเหมาะสมมากพอทำให้การเจริญเติบโตของทุเรียนนั้นไม่มากนัก และสิ่งที่เกษตรกรจะต้องคำนึงถึง คือ ในการปลูกทุเรียนในช่วงแรก ต้นทุเรียนมีความต้องการร่มเงา ซึ่งพืชที่อยู่ร่วมกับทุเรียนได้ดี คือ กล้วย เพราะจะช่วยให้ร่มเงาและความชุ่มชื้นกับต้นทุเรียนในช่วงฤดูแล้ง และในพื้นที่ว่างระหว่างต้นเกษตรกรสามารถนำพืชผัก หรือไม้ผลต่างๆมาปลูกแซมได้ แต่จะต้องคำนึงถึงชนิดและประเภทของพืชที่จะปลูกร่วมกันด้วยโดยพิจารณาจาก ระบบราก ลักษณะทรงพุ่ม ความต้องการธาตุอาหาร น้ำ แสงแดด ความทนทานต่อความแห้งแล้งของพืชแต่ละชนิดที่จะนำมาปลูกจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจให้ดี เพราะผลกระทบของพืชแต่ละชนิดสามารถที่จะมีต่อกันและกันได้ และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความคุ้มค่า ประโยชน์ของการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดภายในสวนไม้ผล จะมีผลในด้านของการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้เกิดขึ้น เมื่อมีความหลากหลายของชนิดพืชจะทำให้เกิดความหลากหลายของชนิดแมลงศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติที่ควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดการระบาดได้เช่นเดียวกับความสมดุลที่เกิดขึ้นในสภาพป่าธรรมชาติ ทำให้มีการใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากเดิมที่เคยมีการปลูกพืชเพียงอย่างเดียว ช่วยลดปัญหาในเรื่องของวัชพืช และที่สำคัญก็คือช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของผลผลิตและราคาที่ตกต่ำเมื่อมีการปลูกพืชเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่เกษตรกรจะต้องเจอและคงจะหลีกไม่พ้นในการปลูกไม้ผล นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องของโรคและการเข้าทำลายของแมลง เช่น ทุเรียน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของโรครากเน่า โคนเน่า เกษตรกรสามารถป้องกันและกำจัดได้ด้วยการใช้ไตรโคเดอร์ม่า และการปลูกพืชสมุนไพรล้อมโคนต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็น กระวาน,หน่อแดง,เร่วหอม,ว่านสาวหลง,ชะพลู เป็นพืชจำพวก รากสะสมน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราไฟทอฟธอร่า สาเหตุของการเกิดโรครากเน่า-โคนเน่าทุเรียน ที่มีการสะสมอยู่ในดินได้ดี ด้วยการนำสมุนไพรดังกล่าวมาปลูกใต้ต้นทุเรียนโดยปลูกให้ห่างจะโคนต้น 60 – 80 เซนติเมตร รอบๆ ทรงพุ่ม ดังนั้นในการปลูกไม้ผลให้ประสบความสำเร็จเกษตรกรจะต้องมีการปลูกพืชอื่นร่วมด้วย และมีการบริหารจัดการสวนที่ดี เพื่อให้ไม้ผลเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีดีและมีคุณภาพ ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามและให้คำแนะนำกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ในการปลูกสร้างสวนทุเรียน เพื่อยกระดับและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน