วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมพระสุนทรธรรมากร(หลวงปู่คำพันธุ์ โฆสปญโญ) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายที่ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการ และประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก





โดย 5 ประเด็นใหญ่ในการขับเคลื่อนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก มีการดำเนินการที่เสร็จแล้ว 2 ประเด็นคือ ประเด็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลก ที่ต้องเกิดการรับรู้ร่วมกัน มีเอกสารหรือการประกาศกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลก ซึ่งในประเด็นนี้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือพื้นที่ Core Zone จำนวน 85.03 ไร่ เป็นพื้นที่วัด พื้นที่ Buffer Zone 1 จำนวน 421.33 ไร่ เป็นพื้นที่ควบคุมความสูงอาคารก่อสร้างที่ต้องไม่เกิน 15 เมตร ซึ่งได้มีการกำหนดมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว และพื้นที่ Buffer Zone 2 จำนวน 1,395.37 ไร่ เป็นพื้นที่รัศมีโดยรอบองค์พระธาตุพนม และประเด็นแผนบริหารจัดการวัดพระธาตุพนมจากจังหวัดนครพนม


ส่วนประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ประเด็นแผนการพัฒนาในระดับจังหวัด อำเภอ และพื้นที่ ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นนโยบายที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ให้เห็นเด่นชัดเกี่ยวกับการผลักดันพื้นที่พระธาตุพนมสู่มรดกโลก ดังนั้นในส่วนนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจะได้มีการนำเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดเพื่อเสนอจัดทำแผนให้แล้วเสร็จและให้เป็นไปตามขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลกต่อไป ส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ มี 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นเขตบริเวณประกอบพิธีแห่พระอุปคุต ที่ต้องกำหนดบริเวณให้ชัดเจน โดยให้ทางวัดประกาศเขตอภัยทานหรือจังหวัดมีเอกสารประกาศอย่างเป็นทางการ หรือเป็นเทศบัญญัติ และประเด็นการจัดทำเอกสารนำเสนอเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก (Nomination Dossier) ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ/ศึกษาธิการจังหวัดนครพนมดำเนินการจัดทำ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อทำเอกสารฉบับเบื้องต้น (Normintion File) ฉบับภาษาอังกฤษ ให้ทันการเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอพระธาตุพนมสู่มรดกโลก ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-13 ธันวาคม 2566 ที่จะมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม ซึ่งจะมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจาก 15 ประเทศมาร่วมกันวิเคราะห์และให้ความเห็น ก่อนที่จะมีการสรุปรวมข้อมูล จัดทำเอกสารทั้งหมดนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญอนุมัติ พระธาตุพนมจะเป็นมรดกโลกในปี 2568

