ข่าวอัพเดทรายวัน

ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตำบลตาโกน

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตำบลตาโกน สำนักสงฆ์บ้านชะบา อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้ลงพื้นที่ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตำบลตาโกน โดยมีนายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ผลาดิสัย และนางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายนรินทร์ อร่ามโชติ นายอำเภอเมืองจันทร์ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังวัดศรีสะเกษและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดและอำเภอ นำข้าราชการและประชาชนร่วมให้การต้อนรับและร่วมบรรยายสรุปการดำเนินการของศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตำบลตาโกน สำนักสงฆ์บ้านขะบา และนำเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการผ้าพื้นเมืองศรีสะเกษ เยี่ยมชมนิทรรศการสถานศึกษาและกิจกรรมโคก หนอง นา โมเดลศรีสะเกษ ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย

โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดป้ายศูนย์เรียนรู้ตามโครงการ MOU เกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านการเกษตร ฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมสาธิตแบบมีส่วนร่วม ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชนชุมชน สถานศึกษา ภาคีเครือข่าย รวบรวมผู้มีความรู้ด้านต่างๆ มาพบปะ พูดคุยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจ และเป็นที่พึ่งของสังคม ชุมชน ประชาชนได้รับโอกาสในการประกอบสัมมาชีพอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของประชาชน ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัดศรีสะเกษต่อไป

นายนรินทร์ อร่ามโชติ นายอำเภอเมืองจันทร์ กล่าวว่า เมื่อปี 2557 เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และท่านเจ้าคุณพระมงคลวชิรากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ได้ดำเนินการริเริ่มจัดตั้งให้การสนับสนุนโดยร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตำบลตาโกน อำเภอเมืองจันทร์ ให้เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ อบรมในด้านการส่งเสริมอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพและการปลูกผักสวนครัว เน้นการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดตั้งคณะกรรมการประจำศูนย์ฯ มีสมาชิกจำนวน 50 คน โดยมีแผนดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ฯ จัดทำเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตของสมาชิกและจัดจำหน่าย ส่งเสริมให้มีการทำการตลาดออนไลน์ จัดทำเส้นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จัดทำและรวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ในสื่อสังคมออนไลน์พัฒนาศูนย์เรียนรู้ ให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัยและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป