ข่าวอัพเดทรายวัน

อำเภอกันทรลักษ์ ร่วมกับ สปสช.เร่งตรวจดีเอ็นเอให้คนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะได้เกิดใหม่ตามกฎหมาย

ศรีสะเกษ กันทรลักษ์ร่วมกับ สปสช.เร่งตรวจดีเอ็นเอให้คนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะได้เกิดใหม่ตามกฎหมาย นายอำเภอกันทรลักษ์เผยดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้งกว่า 200 ราย ผลการตรวจส่งกลับมาทำให้ประชาชนกันทรลักษ์ได้รับการเพิ่มชื่อจากการส่งตรวจสารพันธุกรรมแล้วประมาณ 60 ราย

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมบุญประภัสร์ ชั้น 3 ตึกสมเด็จพระพุฒาจารย์ โรงพยาบาลกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายสุกิจ เหลืองสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมประสานเครือข่ายพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการจัดเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ซึ่ง อ.กันทรลักษ์ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 (สปสช.) สำนักบริหารงานทะเบียนกรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลกันทรลักษ์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ร่วมกันจัดการประชุมนี้ขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักทะเบียนกรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาตร์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักทะเบียนท้องที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) สำนักทะเบียนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายประชาชน โดยมี น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายศักดิ์สิน กุลบุตรดี สาธารณสุขอำเภอกันทรลักษ์ นพ.ประกาศิต งามแสง รอง ผอ.โรงพยาบาลกันทรลักษ์ ฝ่ายการแพทย์ ทันตแพทย์หญิงมาลี จงธนากร รอง ผอ.โรงพยาบาลกันทรลักษ์ ด้านพัฒนาบริการสุขภาพ นำคณะเจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมประชุมให้การต้อนรับ

น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจในระดับนโยบาย พัฒนาการเข้าถึงบริการของคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ อันจะทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการแห่งรัฐที่จำเป็นอื่นๆ ได้ ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีกรณีศึกษาและเป็นต้นแบบการเรียนรู้ การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในวงกว้างผลักดันให้เกิดการดำเนินงานระดับนโยบาย ยกระดับศักยภาพให้โรงพยาบาล กันทรลักษ์ สามารถจัดเก็บสิ่งส่งตรวจ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงมีการจัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ขึ้น

นายสุกิจ เหลืองสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวว่า อ.กันทรลักษ์เป็นอำเภอใหญ่อยู่ใน จ.ศรีสะเกษและที่สำคัญก็คือมีประชากรเป็นจำนวนมากและเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งอดีตกาลที่ผ่านมาการสัญจรไปมาก็ค่อนข้างจะลำบาก จึงทำให้มีประชาชนที่ยังตกหล่นอยู่ คือผู้ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นจำนวนมาก ในโอกาสนี้ทางสำนักงานทะเบียนกรมการปกครอง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมและสปสช. ได้จัดทำโครงการที่จะจัดเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเพื่อเพิ่มชื่อให้กับคนที่ตกหล่นได้มีโอกาสเป็นคนไทยตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในโอกาสนี้ อ.กันทรลักษ์ต้องขอขอบคุณ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญก็คือทางโรงพยาบาลกันทรลักษ์ที่ได้ขันอาสาร่วมเป็น เครือข่าย และเป็นสถานที่จัดเก็บสารพันธุกรรม เพื่อส่งต่อไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมในการที่จะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการลดรายจ่ายและลดเวลาในการเดินทางและที่สำคัญก็คือเป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลดังกล่าวต้องนำเรียนว่าเป็นบุคคลกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยตลอดจนเป็นเด็ก ดังนั้นการที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษเป็นหน่วยในการจัดเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ เพื่อส่งต่อนี้ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มที่ตกหล่นทางสถานะทางทะเบียนดังกล่าว

นายสุกิจ เหลืองสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาต้องขอนำเรียนว่า อ.กันทรลักษ์ได้ร่วมกิจกรรมนี้ตามนโยบายของกรมการปกครองเรื่องของอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุขตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาและเป็นสถานที่จัดเก็บพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอนี้มาแล้วจำนวน 2 ครั้งมีผู้มาร่วมกิจกรรมไม่ใช่เฉพาะ จ.ศรีสะเกษหรือ อ.กันทรลักษ์เท่านั้นมีมาจากหลากหลายจังหวัด เช่น จ.บุรีรัมย์สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธรหรือแม้แต่ จ.อุบลราชธานีก็ได้เดินทางมา เราก็ได้มีการจัดเก็บสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอเพื่อส่งตรวจไปแล้วจำนวนประมาณกว่า 200 ราย และได้มีผลกลับมาเฉพาะในส่วนของ อ.กันทรลักษ์ นี้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีประชากรที่ได้รับการเพิ่มชื่อจากการส่งตรวจสารพันธุกรรมอยู่ประมาณ 60 รายแล้ว ก็ถือว่าทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะทางทะเบียนและที่สำคัญก็คือสามารถเป็นคนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ ตนขอนำเรียนว่า คนไทยเกิดจากพ่อแม่คนไทยก็ถือว่าเป็นการเกิดครั้งที่ 1 แต่พอ ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนมีบัตรประจำตัวประชาชนมีชื่อในทะเบียนบ้านถือว่าเป็นการเกิดทางกฎหมายที่ทำให้บุคคลดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงสถานะและสวัสดิการของภาครัฐซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ

นายสุกิจ เหลืองสกุลไทย นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินงานครั้งนี้ จากการที่ได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายแล้ว มีผู้แจ้งความประสงค์เข้ามาประมาณ 100 รายซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในการที่จะอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะโรงพยาบาลกันทลักษ์แห่งนี้ ตนขอฝากไปถึงทุกท่านที่ยังตกหล่นสถานะทางทะเบียนและยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ก็ขอให้ทุกท่านได้เข้าใจ และเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภออำเภอต่างๆหรือหน่วยที่เป็นภาคีของ สปสช. ที่เป็นเจ้าของเรื่องเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อที่จะได้ดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ โดยในส่วนนี้ต้องเรียนว่าการที่เราได้ดำเนินการดังนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทำให้พี่น้องประชาชนมีสถานะทางทะเบียนและเป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมายถือว่าเป็นการทำที่เป็นประโยชน์ และผู้ที่ร่วมดำเนินกิจกรรมนี้ก็สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่มองว่าคนไทยเราจะต้องไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อให้เป็นคนไทยที่ครบถ้วนสมบูรณ์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น