เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ส.ค. 2566 ที่ห้องมุงกฎเพชร โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เรื่อง เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ซึ่งจัดโดย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566 โดยมี ดร.อรรณพ พึ่งเชื้อ ผู้ช่วยนักวิจัย ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2566 และตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น





นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ประกาศการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ใช้ชื่อเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายหลังควบรวมจะทำให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีฐานผู้ใช้บริการทั้งหมดรวมกันประมาณ 55 ล้านเลขหมาย จากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมดราว 120 ล้านหมายเลข ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน เพราะลดจำนวนผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย เนื่องจากผู้ใช้บริการของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นั้น มีเพียงประมาณ 3 ล้านเลขหมาย





“ขณะที่ผู้ใช้บริการของ MVNO: Mobile Virtual Network Operators (หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบการและโครงข่ายเป็นของตัวเอง) ทั้ง 8 ราย รวมเป็นเพียง 4 หมื่นเลขหมาย ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะทั้งก่อนและหลังการควบรวม เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่เกิดจากการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งอาจจะสร้างผลเสียต่อตลาดโทรคมนาคมไทย ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม”



นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบายของ กสทช. ที่สำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และปัจจุบันปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องของแก๊งโทรศัพท์ (Call Centre) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน เป็นปัญหาที่พบว่า ผู้บริโภคถูกหลอกลวงในเม็ดเงินที่สูญเสียต่อปีเป็นหมื่นล้าน สำหรับวิธีป้องกันและรับมือกับแก๊ง Call Center ขอให้ตั้งสติให้ดีและตรวจสอบข้อมูลปลายสายให้แน่ชัดเสียก่อน ที่สำคัญห้ามบอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่ใครเป็นอันขาด เพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินของเราไป