วันที่ 8 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.นครพนม ระดับแม่น้ำโขงในช่วงนี้ สถานการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 9.50 เมตร ห้างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งประมาณ 3.50 เมตร เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 20-30 เซนติเมตร ด้านสถานีอุตินิยมวิทยานครพนม แจ้งประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะลำน้ำที่ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำฯ รวมทั้งในพื้นที่ที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว









แต่ทางชลประทานจังหวัดนครพนม ยังคงเร่งประเมินสถานการณ์น้ำตามลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ทั้ง 3 สาย ในของพื้นที่ริมแม่น้ำโขง 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน หากฝนตกต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาน้ำระบายลงน้ำโขงช้า จึงต้องมีการ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และตรวจสอบระบบระบายน้ำลงน้ำโขง ป้องกันน้ำท่วมชุมชน ย่านการค้า















ขณะเดียวกันหลังจากระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลดีต่อลำน้ำสาขาสายหลัก โดยเฉพาะลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม ถือเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมีอาชีพประมงหาปลาน้ำโขงขาย เนื่องจากในช่วงฤดูฝนปลาน้ำโขงนานาชนิด จะขึ้นไปขยายพันธุ์ต้นน้ำ ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่ใหญ่สุดของภาคอีสาน โดยชาวบ้านจะมีรายได้จากการหาปลา เงินหมุนเวียนสะพัดทุกปี ส่วนปีนี้ หลังประสบปัญหาแล้ง ทำให้จับปลาได้น้อยลง แต่หลังจากระดับน้ำโขงเพิ่ม ทำให้ตลาดปลาน้ำโขงกลับมาคึกคัก ชาวบ้านอาชีพประมง เริ่มจับปลาตัวขนาดใหญ่ได้มากขึ้น หากระดับน้ำโขงเพิ่มต่อเนื่อง จะส่งผลให้สถานการณ์กลับมาปกติ แต่หากระดับน้ำยังวิกฤต จะส่งผลต่อระบบนิเวศ ปลาน้ำโขงสูญพันธุ์ และในปีต่อไปจะประสบปัญหา ปริมาณปลาในน้ำโขงลดลง
พลตรี สถาพร บุญชู ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เปิดเผยว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดนครพนมในช่วงนี้แม้จะมีปริมาณลดลงเหลือตกในพื้นที่ประมาณ 40 – 60 % โดยทางสถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม ได้มีการคาดการณ์ว่าในพื้นที่จังหวัดนครพนมจะมีฝนตกหนักอักครั้งในช่วงประมาณวันที่ 11-14 สิงหาคม 2566 โดยเมื่อเวลา 6.00 น. ของวันนี้ 8 สิงหาคม 2566 ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงวัดได้ 9.46 เมตร สูงเพิ่มขึ้น 14 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีฝนตกลงมามากสุดอยู่ที่อำเภอบ้านแพง เฉลี่ย 17 มิลลิเมตร รองลงมาเป็นอำเภอนาทม 11.5 มิลิเมตร ส่วนสถานการณ์ผู้ประสบภัยในพื้นที่ทั้ง 11 อำเภอที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยก็ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมขังอยู่ ด้วยปริมาณน้ำที่สะสมมาตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมได้บูรณาการความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ เข้าช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่องทั้งการเตือนภัย การขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัด การชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเยียวยาช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ด้วยระยะเวลาผู้ประสบภัยต้องอยู่กับปริมาณน้ำที่นานถึง 12 วัน ก็เริ่มทำให้มีการพบเห็นว่ามีการเจ็บป่วย รวมถึงหลายคนเกิดความเครียดวิตกกังวลจากการที่พืชผลทางการเกษตรเสียหาย
ดังนั้นในวันนี้จึงได้ส่งทีมแพทย์ทหารจากโรงพยาบาลค่ายพระยอดเมืองขวาง เข้าไปเสริมการปฏิบัติงานที่ปัจจุบันกำลังพลของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 210 กำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ตั้งแต่วันเกิดเหตุ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพร่วมกับทางองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ในการให้การดูแลรักษา ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ในการปฏิบัติตัวให้ทุกคนห่างไกลจากโรคที่มากับน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น การป่วยเป็นไข้ โรคผิวผนัง โรคเท้าเปื่อย โรคท้องร่วง โรคฉี่หนู โรคตาแดง ส่วนความเครียดที่ผู้ประสบภัยมีก็ได้ส่งทีมทหารมวลชนสัมพันธ์ลงพื้นที่พูดคุย สร้างความเป็นกันเอง ทำให้ทุกคนมั่นใจและคลายความกังวล ว่าศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 210 และภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างประชาชนและให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันในวันนี้ชุดกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์ของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 210 ก็ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก และผู้นำชุมชนในพื้นที่เข้าดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่เกษตรกรใช้เดินทางสัญจรไปมเกิดการชำรุดเนื่องจากน้ำกัดเซาะ ทำให้ถนนทรุดตัว เป็นหลุม เป็นบ่อ โดยได้ร่วมกันนำกระสอบทรายไปวางเป็นผนังกั้นทางไหลของน้ำตามจุดต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำพร้อมซ่อมถนนเสียหายเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาได้ก่อนเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น