ฝนทิ้งช่วงทำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตื้นเขินจนตอหม้อสะพานโผล่ ซ้ำราคาหัวอาหารแพงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังหมู่บ้านชาวประมงที่มีเกือบ 10 ราย ไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้เพราะเสี่ยงน็อกตายและขาดทุน จึงเลิกเลี้ยงเหลือแค่ 2 ราย









วันที่ 9 ส.ค. 2566 ผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังหมู่บ้านชาวประมง ต.สตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กำลังประสบปัญหาเดือดร้อน หลังจากที่ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลตื้นเขินจนตอหม้อสะพานโผล่ เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับราคาอาหารปลาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเมื่อก่อนกิโลกรัมละ 400 – 450 บาท แต่ปัจจุบันสูงถึงกิโลกรัมละ 620 บาท ทำให้ผู้มีอาชีพเลี้ยงในกระชังหมู่บ้านชาวประมงที่เคยเลี้ยงเกือบ 10 ราย เหลือแค่ 2 รายเท่านั้น เพราะปริมาณน้ำน้อยตื้นเขินทำให้ปลาน็อกตาย ประกอบกับราคาหัวอาหารที่แพงขึ้นทำให้แบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว เพราะบางช่วงราคารับซื้อก็ต่ำทำให้เสี่ยงขาดทุน หลายคนจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยง ส่วนอุปกรณ์ที่ยังใช้ได้ก็นำไปขายเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ และเป็นทุนทำอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงครอบครัว บางคนเลิกเลี้ยงเพราะเสี่ยงขาดทุนแต่หันไปรับปลาจากต่างจังหวัดมาขายต่อแทน
นายสมพร สุกใส อายุ 55 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านชาวประมงที่เคยเลี้ยงปลากระชัง บอกว่า ก่อนหน้านี้ก็ทำอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังขาย แต่หลังจากประสบปัญหาเรื่องน้ำที่ตื้นเขินในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ปลาน็อกตายบางครั้งขาดทุน ประกอบกับราคาหัวอาหารแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้อยู่ที่ราคากระสอบละ 450 บาท ปัจจุบันปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 620 บาท โดยหากเลี้ยงปลากระชังละ 1,000 ตัว ต้องลงทุนซื้อหัวอาหารให้ปลากินจนกว่าจะครบกำหนดจับขายกระชังละไม่ต่ำกว่า 100 กระสอบ ทำให้ไม่มีต้นทุนที่จะเลี้ยงต่อจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยง
ด้านนายทองชม เทพเสนา อายุ 66 ปี ชาวบ้านอีกคนที่มีอาชีพเลี้ยงปลากระชัง บอกว่า ตนทำอาชีพเลี้ยงปลากระชังขายมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาก็เลี้ยงได้ปีละ 3 รอบ แต่ระยะหลังประสบปัญหาน้ำตื้นเขินช่วงหน้าแล้ง ทั้งเกิดโรคระบาด และหัวอาหารก็แพงขึ้น จึงลดเหลือปีละ 2 รอบ แต่ปีนี้แม้จะเข้าสู่หน้าฝนแต่ปริมาณน้ำยังตื้นเขินเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ตอนนี้จึงยังชะลอเลี้ยงไปก่อนเพราะกลัวหากลงเลี้ยงปลาจะน็อกตายทำให้ขาดทุน เมื่อก่อนคนในหมู่บ้านทำอาชีพเลี้ยงปลากระชังเกือบ 10 ราย แต่หลังจกประสบปัญหาทั้งเรื่องน้ำ โรคระบาด และหัวอาหารแพง ก็ทยอยเลิกเลี้ยงเหลือแค่ 2 รายเท่านั้น แต่หากยังประสบปัญหาแบบนี้ต่อเนื่องตนก็คงจะต้องเลิกเลี้ยงเหมือนกันเพราะสู้ไม่ไหว