ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม หารือผลการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) นาย วิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 1/2566 เพื่อขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมี ประสิทธิภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดนครพนม ครั้ง 1/2566 เพื่อขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ให้ ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกพื้นที่

โดยแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่มีเป้าหมายเชิงนโยบาย 5 ประการ คือ ควบคุมและลดปริมาณ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสังคม ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมความชุกของผู้บริโภค ลดความเสี่ยงจากการบริโภคทั้งมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังบริโภค มีการจำกัดและควบคุมความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค และการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายร่วมกับภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด พร้อมมีการรายงานผลการดำเนินงานในระบบ TAS อีกทั้งมีการ สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่มที่เริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนขยายสู่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ในทุกระดับให้มีความสามารถในการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการตรวจคัดกรองผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 – 29 มิ.ย. 2566 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของเขตสุขภาพที่ 8

ส่วนด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดนครพนมมีการดำเนินการใน 5 มาตรการหลักที่ประกอบไปด้วย การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบระดับจังหวัด ที่จะมีการพัฒนา ศักยภาพบุคลากรในด้านต่างๆ การบังคับใช้กฎหมายและการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ใหม่ในสถานศึกษา การบำบัดรักษาและช่วยเลิกบุหรี่ และการสร้างมาตรการทำให้ชุมชนปลอดบุหรี่ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมสามารถคัดกรองผู้บริโภคยาสูบในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป สูงเป็นอันดับที่ 3 ของเขตสุขภาพที่ 8 และมีอัตราการบำบัดอยู่ที่ร้อยละ 63.87