ข่าวอัพเดทรายวัน

แฉฝีมือนายทุนจีน ตัวการสั่งลัก “ไม้พะยูง” จาก ทต.อิตื้อ พบหลักฐานมัด 8 ขรก.

แฉฝีมือนายทุนจีน ตัวการออเดอร์ขโมยไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อโอนสด 290,000 บาท มีหลักฐานมัด 8 ข้าราชการเอี่ยว ขณะที่ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ (ด้านความมั่นคง) ร่อนหนังสือถึงธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ชี้แจงผลการประมูลไม้หวงห้ามทุกชนิด ที่อนุญาตให้ขายไม้พะยูง ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 หลังชาวบ้าน ครู สุดทนพฤติกรรมที่มีข้าราชการตัดไม้ทำลายป่าซะเองทยอยส่งหลักฐาน ภาพถ่าย พฤติกรรมฟอกขาวผ่านระเบียบพัสดุกรมธนารักษ์ พร้อมกำชับนายอำเภอ 18 อำเภอ สำรวจขึ้นบัญชีไม้พะยูงตามโรงเรียน ส่วนราชการ บนพื้นที่ราชพัสดุ และจัดชุด ชรบ.ลาดตระเวนป้องกันเครือข่ายมอดไม้ข้ามชาติ

กรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ขณะที่ชาวบ้านที่อนุรักษ์ป่าไม้ส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงขาย ที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก เป็นฝีมือข้าราชการ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ความคืบหน้าล่าสุด นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ (ฝ่ายความมั่นคง) หัวหน้าชุดเฉพาะกิจคลี่คลายปัญหาการตัดไม้พะยูง ได้ทำหนังสือ วิทยุสั่งการ ให้ นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ทำการสำรวจข้อมูลไม้หวงห้ามและไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่สาธารณประโยชน์ โรงเรียน และวัด เพื่อทำการสำรวจข้อมูลและจัดทำบัญชีคุมไม้หวงห้ามและไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้พะยูง ไม้สัก ไม้ประดู่ และไม้มีค่าประเภท ก. ในที่สาธารณประโยชน์ โรงเรียน วัด โดยให้ระบุรายละเอียดสถานที่ตั้ง พิกัด จำนวนต้น พื้นที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด พร้อมให้แจ้งชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ ผู้ดูแลสถานที่ โดยให้รายงานข้อมูลให้จังหวัดทราบ ภายในวันที่ 20 กันยายน 2566 เป็นหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2566

นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาการตัดไม้พะยูงที่จ.กาฬสินธุ์ จะต้องแยกออกเป็น 2 กรณี คือกรณีแรกเป็นปัญหาการขโมยไม้ของกลางจำนวน 7 ท่อน ที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด เหตุเกิดวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ส่วนอีกกรณีคือ การฝ่าฝืนคำสั่งของทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เกี่ยวกับการประมูลไม้พะยูงขายจำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ เหตุเกิดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ โดยกรณีไม้พะยูงของกลางหาย ถือเป็นคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับข้าราชการของรัฐ พนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด ผู้รับผิดชอบคดี ได้ส่งสำนวนที่มีอยู่เกือบ 300 หน้า ให้ ปปช.จ.กาฬสินธุ์ ดำเนินการพิจารณาที่ระบุว่ามีข้าราชการ กรมป่าไม้ ข้าราชการท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวม 8 คนมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทาง ปปช.จ.กาฬสินธุ์ ก็กำลังพิจารณา เพื่อส่งฟ้องในฐานทุจริต(157)ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป ส่วนกรณีการประมูลไม้พะยูงขาย ที่โรงเรียนคำไฮ อ.หนองกุงศรีนั้น ทราบว่า ปปท. จ.ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่แล้ว 1 ครั้ง และกำลังดำเนินการสอบสวนในทางลับ ซึ่งก็ได้ทำคู่ขนานไปกับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยชุดเฉพาะกิจคลี่คลายคดี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งให้ตนเป็นหัวหน้าชุด เบื้องต้น ผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนคำไฮวิทยา , ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 , ผอ.ธนารักษ์พื้นที่กาสินธุ์ ยังไม่รายงานเหตุผลการประมูลไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น 2 ตอ ว่าประมูลไปด้วยเหตุผลใด เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อสั่งการจังหวัด และแนวทางปฏิบัติของกรมธนารักษ์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รายงานมาทางจังหวัดเพียงแจ้งว่าได้รายงานไปยังส่วนกลางต้นสังกัดแล้ว

นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาทั้งสองกรณีนี้ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจอย่างมาก และทราบว่ามีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 มีโรงเรียนหลายแห่งที่มีการประมูลไม้พะยูงไปขาย โดยล่าสุดชาวบ้านได้เรียกร้องให้ไปตรวจสอบที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ว่า มีการตัดต้นไม้พะยูงด้วยวิธีประมูลขายนำเงินเข้าหลวง จำนวน 9 ต้น ขายให้กับพ่อค้าในราคา 104,000 บาท โดยขายไปเมื่อช่วงกลางเดือน เมษายน 2566 ซึ่งมีพฤติกรรมการตัดไม้พะยูงประมูลขายคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่ โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ กรณีนี้ชุดเฉพาะกิจฯ ได้เข้าตรวจสอบก็เป็นไปตามที่ชาวบ้านร้องเรียน โดยทาง กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ ยังพบหลักฐานภาพถ่ายและเอกสารวิธีการประมูลไม้พะยูงขายทั้งหมด ซึ่งครั้งนี้ ทางจังหวัด ได้ทำหนังสือเป็นรายลักษณ์อักษรไปถึง ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 อีกครั้งเพื่อขอทราบ เรื่องการให้อนุญาตประมูลไม้พะยูงและการประมูลไม้พะยูงหรือไม้เศรษฐกิจของกลาง บนพื้นที่ราชพัสดุย้อนหลังตั้งแต่ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562 ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา

“จากปัญหานี้ยังได้มีข้อสังการณ์ไปถึง นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ให้จัดชุด ชรบ. ที่ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนอาสาที่ผ่านการฝึก ทำการออกลาดตระเวนในพื้นที่ของตน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีต้นไม้พะยูง เพื่อป้องกันเครือข่ายมอดไม้ตัดในช่วงนี้ ร่วมถึงข้อห้ามให้มีการประมูลไม้พะยูงขาย หากมีความจำเป็นจะต้องแจ้งมายังจังหวัดเพื่อตั้งกรรมการตรวจสอบ จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนได้ช่วยเห็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังด้วย” รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวฯ

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ได้กล่าวถึงแนวทางการสอบสวน ของพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ คดีขโมยไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อนที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ ว่าสำนวนมีความสมบูรณ์มาก และผลการสอบสวนก็ตรงกับผลสอบคู่ขนานของชุดเฉพาะกิจจังหวัด ซึ่งปัญหาของกลายหาย ไม้พะยูง 7 ท่อน เครือข่ายมอดไม้ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่บางคนที่อยู่ใน 8 คนที่อยู่ในสำนวนสอบสวนในมือ ปปช. โดยมี “เสี่ย ส.” เป็นนายหน้าเข้ามาประสานคนแรกตกลงซื้อขายในราคา 200,000 บาท ที่เข้าใจว่าเป็นไม้ที่กำลังจะถูกประมูล แต่ตกลงกันไม่ได้ เพราะไปรู้ถึงหู พ่อค้าชาวจีน ชื่อ “จังเฉิน” ที่ให้ราคา 290,000 บาท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ไม้ของกลางหาย ก็ปรากฏ จนท.ป่าไม้ ไปพบกับคนรับขนไม้และมีการวัดขนาดและส่งไปให้พ่อค้าชาวจีน จนมีการตกลงซื้อขาย จึงได้ทำการขนไม้พะยูงออกจากพื้นที่ไป โดยการเปิดประตูหน้าสำนักงานเทศบลตำบลอิตื้อ ขึ้นรถบรรทุกนำไม้ไปจอดพักที่ โสกหินขาว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ก่อนที่จะทำการถ่ายภาพยืนยันปลายทางว่าได้นำไม้พะยูงออกมาแล้วนายทุนจีน จึงได้โอนเงินกลับมายังคนขับรถจากนั้นเงินทั้งหมดก็ได้ถูกโอนแบ่งสันปันส่วนไปตามรายชื่อที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน โดยคนขับรถได้รับเงินจำนวน 10,000 บาทเป็นค่าแรง แต่เรื่องที่มาแดงก็เนื่องจากมีชาวบ้านที่ทนเห็นพฤติกรรมไม่ไหวได้ร้องเรียนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

“ส่วนกรณีอนุญาตขายไม้ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เชื่อว่าอีกไม่นานจะเห็นภาพเครือข่ายทั้งหมด เพราะคนมาซื้อมั่นใจว่าเป็นการซื้อที่ถูกต้อง และในเรื่องของราคาจ่ายจริง ก็ไม่ใช่ราคาที่อยู่ในใบเสร็จรับเงิน พ่อค้าไม้คงจะนำมาเปิดเผยทั้งหมดหาก องค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ปปช. , ปปท. , สตง. จริงจังที่จะทำความจริงให้ปรากฏ เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เหิมเกริม และถือเป็นการใช้ช่องว่างทางกฏหมายระเบียบพัสดุของกรมธนารักษ์ อนุญาตประมูลตัดไม้พะยูงและไม้หวงห้ามที่เป็นของแผ่นดินอย่างไม่มีเหตุผล สิ่งที่ต้องการพูดก็คือคนที่ตัดไม้ทำลายป่าชีวิตไม่มีใครจบสวยซักคน” แหล่งข่าวกล่าวฯ

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ปัญหามอดไม้ ที่เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจทั่วประเทศนั้น มีรายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้ส่งชุดเฉพาะกิจเข้าพื้นที่กาฬสินธุ์ และ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม ที่มีปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในการป้องกันเหตุและเกาะรอยติดตามกลุ่มมอดไม้แล้ว